เศรษฐกิจโลกผันผวนฉุดส่งออกติดลบ 4.2 % ลุ้นอีก 9 เดือนพลิกบวกตามเป้า

เศรษฐกิจโลกผันผวนฉุดส่งออกติดลบ 4.2 % ลุ้นอีก 9 เดือนพลิกบวกตามเป้า
เกาะติดส่งออกไทยยังไร้ปัจจัยบวกไตรมาสแรกติดลบ แม้เดือนมี.ค.ทำมูลค่า 2.74 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐสูงสุดรอบ 12 เดือนจากหมวดสินค้าเกษตร

นายสินิตย์  เลิศไกร  รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนมีนาคม 2566 ว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่า 27,654.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (942,939 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 4.2 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ แต่หากคิดเป็นมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (23,904.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) และมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 12 เดือน

ทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงถือได้ว่าทำได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการ มีสัญญาณที่ดีจากการกลับมาเป็นบวกในตลาดที่มีสัดส่วนสำคัญต่อการส่งออกของไทย อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย อีกทั้งยังกลับมาเกินดุลการค้าในรอบ 12 เดือน

อย่างไรก็ตามภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากภาวะเงินเฟ้อ ที่แม้จะผ่อนคลายลงแต่ยังคงทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้การเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมายังคงส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร ภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่การย่อตัวลงของราคาน้ำมันตามอุปสงค์ตลาดโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัวลงต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกไตรมาสแรก ลดลงร้อยละ 4.5 มีมูลค่า 70,280.1 ล้านเหรียญสหรัฐ  ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 73,324.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.5 ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2566 ขาดดุล 3,044.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเป็นการขยายตัวทั้งหมวดสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.2 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.1 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เครื่องดื่ม ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง  ฃ

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา ลดลงต่อเนื่อง 8 เดือน อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป

นายสินิตย์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป ประเมินจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในแต่ละภูมิภาคของโลกยังอยู่ในระดับสูง ภาวะวิกฤตของสถาบันการเงินยังเป็นปัจจัยบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมไปถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อผันผวนของราคาพลังงาน

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ยังเดินหน้าผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ ขยายตัวเป็น 1-2%  โดยในช่วง 9 เดือนที่เหลือ มูลค่าการส่งออกต้องเฉลี่ยเดือนละ 24,500 ล้านเหรียญสหรัฐ 

TAGS: #ส่งออก #เศรษฐกิจโลก #เงินเฟ้อ