ขุนคลังไม่หวั่นไอเอ็มเอฟปรับลดจีดีพีไทย ชี้สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่แน่นอน ลั่นพร้อมออกมาตรการดันจีดีพีส่วนที่ลด ด้านปลัดคลังเผยขยายเพดานหนี้ ไม่ใช่เรื่องผิด ให้มองว่ากู้เงินมาใช้ทำอะไร ยกตัวอย่างในหลายปร
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (จีดีพี) ปี 68 จาก 2.9% เหลือ 1.8% ว่า ในส่วนนี้ตนมองเป็นการประเมินเบื้องต้น ซึ่งของจริงยังไม่รู้ว่าลดเท่าไร แต่ไม่น่าถึงขนาดนั้น เพราะสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่แน่นอน และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่ต้องยอมรับว่าอาจมีผลกระทบบ้าง ซึ่งรัฐบาลมีการประเมินสถานการณ์อยู่อย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการมาดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยส่วนจีดีพีที่จะลดลงไป เพื่อรักษาให้เติบโตได้ในระดับเดิมให้ได้มากที่สุด
นายพิชัย กล่าวด้วยว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวมองว่าน่าจะต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท และจะต้องโฟกัสไปเรื่องในประเทศ ซึ่งต้องดูทั้งการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนในประเทศ ตลอดจนเรื่องสินเชื่อซอฟท์โลน
นอกจากนี้ ในส่วนที่มาของแหล่งเงิน ก็ต้องดูเพราะมีหลายทางให้เลือก โดยขณะนี้ก็ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“หากถามว่า ในส่วนนี้จะมีผลกระทบต่อภาระหนี้สาธารณะหรือไม่นั้น ก็ไม่อยากให้มองเรื่องหนี้ เพราะในหลายประเทศก็มีหนี้สูงกว่า แต่สิ่งสำคัญคือหากมีการใช้เงิน จะนำมาใช้ทำอะไร ซึ่งถ้าสามารถทำให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขยายตัวได้กว่าเดิม ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับลดลงไปได้” นายพิชัย กล่าว
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่า ตอนนี้ฐานะการคลังของประเทศไทยยังเข้มแข็งอยู่ ส่วนที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่กว่า 500,000 ล้านบาทปีในนี้ ก็ต้องดูว่าจะเข้ามาทำในส่วนไหน ซึ่งมองว่าเรื่องการกระตุ้นการบริโภค ก็จะเกิดผลได้ไว แต่เรื่องการลงทุนก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งก็ต้องทำการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ ในตอนนี้ยังไม่สรุปว่าจะเป็นการกู้หรือไม่ เพราะสามารถทำได้จากหลายวิธี ทั้งการเกลี่ยงบประมาณ รวมถึงงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 150,000 ล้านบาท ที่มีเหลืออยู่ก็ต้องดู รวมถึงสามารถนำเงินสถาบันการเงินของรัฐ เข้ามาปล่อยสินเชื่อเพื่อเติมเงินเข้าเศรษฐกิจก็ได้อีกทางเลือก ซึ่งจากนี้ต้องรอดูการสรุปโครงการอีกครั้ง ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในเดือน พ.ค.นี้ รวมถึงดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอีกด้วย ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่
นายลวรณ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการขยายเพดานหนี้ขยับเป็น 75-80% ตนมองว่าเรื่องเพดานหนี้ ถือว่าไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะในหลายๆ ประเทศก็มีหนี้สูงถึง 80% หรือ 100% ก็ยังทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือการกู้เงินมาแล้ว จะนำเม็ดเงินที่กู้มาไปทำอะไร รวมถึงดูเรื่องความสามารถในการชำระหนี้คืนควบคู่ด้วย