มองอนาคตตลาดสุขภาพไทย ผ่าน ‘พีท-กันตพร’ ผู้บริหาร BCH ธุรกิจโรงพยาบาลฟื้น แต่ยังเจอความท้าทาย

มองอนาคตตลาดสุขภาพไทย ผ่าน ‘พีท-กันตพร’ ผู้บริหาร BCH ธุรกิจโรงพยาบาลฟื้น แต่ยังเจอความท้าทาย
BCH แผนปี’66 คอลแล็บฯธุรกิจอสังหาฯ ขยายศูนย์เนิร์สซิงโฮม ต่อเนื่อง รับโอกาสตลาดชะลอวัยฟื้นฟูและป้องกันขยายตัว หวังรัฐบาลชุดใหม่อุดช่องบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน หนุนไทย ‘เมดิคัล ฮับ’ เต็มตัว

กันตพร หาญพาณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล  จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ผู้ดำเนินธุรกิจ รพ.เกษมราษฎร์ รพ.เวิลด์เมดิเคิล และ รพ.การุญเวช กล่าวในงานเปิดกลยุทธ์การตลาดแห่งชีวิต สร้างชีวิตดี สังคมดี แบรนด์ดี รู้งี้…ทำไปนานแล้ว ! จัดขึ้นโดย CMMU วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า

หลังจากไทยเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึงภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยกลุ่มผู้ป่วย Non-covid กลับมาเต็ม 100%

โดยในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยโควิดเข้ามารักษาในรพ. กลับเข้ามาใช้บริการมีจำนวนอยู่ที่ 150 เตียง ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุด แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาคุ้นชินกับการรักษาในรูปแบบไฮบริดและออนไลน์

ขณะที่แนวทางการดำเนินธุรกิจ BCH ในปี 2566 บริษัทฯเตรียมแผนร่วมกับพันธมิตรอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ พร้อมทำตลาดร่วมกัน (คอลลาบอเรชัน) โครงการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (เนิร์สซิ่ง โฮม) จำนวน 80 เตียง ในทำเลย่านบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี โดยพันธมิตรรายดังกล่าว รับผิดชอบด้านการพัฒนาก่อสร้างโครงการฯ ส่วนบริษัทฯ ดูแลด้านแนวทางการออแบบศูนย์ฯ และ บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายหลักผู้สูงวัย คาดจะมีความชัดเจนรายละเอียดโครงการฯในเร็วๆนี้

“ใน 3 ปี นับจากนี้ BCH ยังจะให้ความสำคัญธุรกิจเนิร์สซิ่ง โฮม มากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างวางแนวทางการลงทุน มีความเป็นไปได้ทั้งลงทุนเองทั้งหมด การร่วมทุน  หรือ คอลลาบอเรชัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดีลกับพาร์ตเนอร์ 2-3 ราย เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ โดยมองพื้นที่ทำเลศูนย์ฯ ที่อยู่ใกล้กับสาขาโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เพื่อความสะดวกในการส่งต่อผู้ป่วย” กันตพร กล่าว

นอกจากนี้ BCH  ยังจะมุ่งให้ความสำคัญธุรกิจศูนย์สุขภาพ (Wellness Center) เพื่อรองรับความต้องการในตลาดปัจจุบัน  ที่ผู้บริโภคหันมาใช้ความสนใจในเวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-aging) เน้นการรักษาเชิงป้องกัน และการเพิ่มภูมิต้านทาน สอดรับกับโครงสร้างสังคมไทยที่จะเปลี่ยนมาสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในไม่กี่ปีข้างหน้า ปัจจุบันเปิดศูนย์สุขภาพ รวม 8 สาขา

ปัจจัย น่าห่วงกระทบธุรกิจโรงพยาบาล

กันตพร กล่าวต่อถึงความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ที่แม้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวในภาคท่องเที่ยว มีผู้ป่วยต่างชาติกลับมา 100% แต่ยังมี 2ปัจจัยน่ากังวล คือ

1.ต้นทุนพลังงาน จากค่าไฟฟ้ากลุ่มโรงพยาบาล ปรับขึ้นราว 20-25% มีอัตราเฉลี่ยค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3-4 ล้านบาทต่อเดือนต่อโรงพยาบาล

โดยแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น BCH ได้ติดตั้งแผงพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์ เซล) มาใช้ภายในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ คาดจะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ 20-30% พร้อมประเมินเดือนมิ.ย. นี้ค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) มีแนวโน้มปรับลดลง และส่งผลบวกต่อต้นทุนดำเนินการ

2.เงินกีบอ่อนค่า จากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินกีบ/บาท จากก่อนหน้ามีอัตราอยู่ที่ 350 กีบ/ 1 บาท ปัจจุบันค่าเงินกีบของลาวอ่อนตัวเป็น 550 กีบ เท่ากับ 1 บาท โดยกลุ่มบริหาร BCH ได้หารือแนวทางการเพิ่มทุนเพื่อ แก้ปัญหาการชำระหนี้ คาดจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้

โดยก่อนหน้ากลุ่ม BCH ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เวียงจันทร์ ด้วยเงินกู้ราว 1,000 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินในไทย

จากแนวทางธุรกิจที่วางไว้ คาดส่งผลให้ภาพรวม BCH ในปี 2566 นี้ มีการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ราว 10-15%

บุคลากรการแพทย์ขาด สะดุด'เมดิคัล ฮับ'

กันตพร สะท้อนมุมมองว่า กรณีประเทศไทยเตรียมเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งครั้งในเดือนพ.ค. นี้ โดยรัฐบาลชุดใหม่ที่เตรียมเข้ามาบริหารประเทศนั้น อยากให้วางนโยบายขับเคลื่อนภาคธุรกิจสุขภาพและสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในทุกระดับ ตั้งแต่ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร

ขณะที่ ปัจจุบันแพทย์ที่เรียนจบออกมา ในสัดส่วนราว 50% เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (GP: General Practice) ยังไม่ได้ศึกษาสาขาเฉพาะทางต่อ หรือ อาจไปทำงานในด้านอื่นที่นอกเหนือจากสายงานทางการแพทย์ ซึ่งเห็นว่าควรจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาในประเด็นนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ศูนย์​กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) แต่พบว่ายังมีปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ในปัจจุบันจะมีแนวโน้มดีขึ้นมากแต่ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร รวมถึงยังมีข้อบังคับบางประการทำให้ไม่สามารถรับแพทย์ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศได้ด้วยต้องสอบใบอนุญาตฯในไทย และไม่สามารถนำใบอนุญาตฯจากประเทศอื่นๆ มาใช้ได้

กันตพร กล่าวปิดท้ายว่า “อาจมีความเป็นไปได้ในการนำแนวทางทดลองอนุญาตให้แพทย์ต่างชาติสามารถเข้ามารักษาในไทยได้ เช่น ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่าง EEC เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาแพทย์ขาดแคลนในระยะสั้น”  

 

 

 

 

 

TAGS: #BCH #โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ #พีท #กันตพร