อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ เดินหน้าสู่ Living Lifestyle Mall แห่งอนาคต ปรับใช้พลังงานสะอาด-ขนส่งรถ EV เพิ่มสัดส่วนกลุ่มของใช้ภายในบ้านทำจากวัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขยายสู่ระบบชุมชนสร้างรายได้ท้องถิ่น
กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM ผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ภายในบ้าน และของตกแต่งบ้าน “อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์” เปิดเผยว่า ในปี 2566 บริษัทฯ ดำเนินงานด้าน ESG ( ESG : Environment, Social, Governance) ซึ่งยึดแนวคิด ‘Sustainable Living for Future Lifestyle’ สู่การใช้ชีวิตแห่งอนาคตที่ยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ Great Experience, Green Planet, Grow Together เพื่อประสบการณ์ที่ดีด้วยสินค้าและบริการ มอบความสุข-คุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัว ILM และส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีสู่สังคมที่ยั่งยืน
โดย บริษัทฯ มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่อง โดยดำเนินภายใต้ 3 แกน ดังนี้
1.Energy Saving & Efficiency in Retail Stores วางแผนด้านพลังงานระยะยาว โดยปีนี้ มีแผนปรับปรุงระบบปรับอากาศและระบบไฟฟ้าแสงสว่าง สำหรับ ILM ทุกสาขา ตั้งเป้าลดการใช้ไฟฟ้าในทุกสาขาลงอีก 10% จากฐานปี 2565 ควบคู่โครงการ “Solar Rooftop” ปัจจุบันติดตั้งรวม 24 แห่ง ทั้ง ILM, คลังสินค้า และโรงงาน (ปี 2565 สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 12,688.80 mWh เพิ่มจากปีก่อน 18.84% ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 6,052.56 ตันคาร์บอนฯ) โดยตั้งเป้าติดตั้งเพิ่มสำหรับสาขาที่มีโครงสร้างรองรับและมีความคุ้มค่าในการติดตั้งภายในปี 2570
พร้อมขับเคลื่อน “Green Logistics” เริ่มทดลองการขนส่งพลังงานสะอาดจากรถไฟฟ้า (Electric Vehicles: EVs) รูปแบบ EV Truck (6ล้อพ่วง), EV (6ล้อ) รวม7 คัน พร้อม EV Charger ที่คลังสินค้า โดยในปี 2566 จะเริ่มขนส่ง-กระจายสินค้าจากเส้นทางสายเหนือ-สายอีสาน ได้แก่ จ.นครสวรรค์ พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังศึกษาข้อมูลในด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้
2. จัดการขยะอย่างเป็นระบบ (Waste Managment) พัฒนาการจัดการขยะแต่ละประเภทให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้ง ILM ทุกสาขา, คลังสินค้า, โรงงาน รูปแบบขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ฯลฯ ในปี 2566 ร่วมมือกับ กรมควบคุมมลพิษ ในการรวบรวมขยะอันตราย เช่นหลอดไฟ ถ่านไฟ และแบตเตอรี่เก่า ฯลฯ จากคู่ค้าและลูกค้าเพื่อนำไปคัดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธี
พร้อมนำร่องการรับขยะอันตราย 2 แห่ง คือ ILM สาขาบางนา, สาขาเกษตร-นวมินทร์ นอกจากนี้ยังต่อยอดโครงการรับที่นอนเก่า (สภาพดี) จากลูกค้าเพื่อส่งต่อมูลนิธิและหน่วยงานที่ต้องการ หรือนำไปจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชิวิตและสิ่งแวดล้อม
3. ออกแบบผลิตภัณฑ์สู่ความยั่งยืน (Eco-Products design) เพื่อเติมเต็มนิยามของบ้านสู่วิถีแห่งความยั่งยืน โดยเพิ่มไอเทมกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ภายในบ้านจากวัสดุรีไซเคิล และวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ออกแบบบรรจุภัณฑ์จากกระดาษเพื่อลดการใช้พลาสติก, ลดขนาดแพ็คเกจของกลุ่มที่นอนในรูปแบบบรรจุกล่อง ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อลดเที่ยววิ่งรถขนส่งที่จะทำให้เซฟพลังงานและลดมลพิษทางอากาศ
นอกจากนี้จะเพิ่มสัดส่วนเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Younique (customized Furniture) ประหยัดทรัพยากรในการผลิตเฟอร์ฯ ให้เป็น 10% ของรายได้เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด ภายในปี 2568
พร้อมมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ให้ชุมชน ผ่าน 3 แกนหลัก ได้แก่
1. พัฒนาสินค้าและบริการเพื่อคุณภาพชีวิตที่เหนือกว่า (Product and Service Innovation for Better Living) เพื่อตอกย้ำการเป็น Living Lifestyle Mall ครอบคลุมทุกความต้องการรองรับการใช้ชีวิตแห่งอนาคต โดยในปี 2566 เพิ่มกลุ่มสินค้า Ergonomic หมวดเก้าอี้-โต๊ะทำงานปรับระดับไฟฟ้า และเฟอร์ฯสำหรับเด็กวัยเรียน,ผู้สูงอายุ ฯลฯ
2. นำเทคโนโลยีทันสมัย ตอบโจทย์ชีวิตสะดวกสบายปลอดภัย และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี กับนวัตกรรม Easy to Clean Fabric Sofa การดีไซน์โซฟาด้วยวัสดุผ้าที่นุ่มอ่อนโยน ปลอดภัย สามารถเช็ดทำความสะอาดง่าย ช่วยป้องกันคราบฝังของสิ่งสกปรก-เชื้อโรค รวมถึงพัฒนาสินค้าที่ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ โดยวางเป้าหมายเพิ่มวัสดุที่ผลิตสินค้าด้วยนวัตกรรมด้านสุขภาพและความปลอดภัย เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 20% ของ portfolio สินค้าใหม่ของกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ในปี 2568
3. ยกระดับสินค้าและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ความยั่งยืนรูปแบบ Urban Living โดยโครงการพัฒนาสินค้าร่วมกับกลุ่มชุมชนเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้กับชุมชน โดยปี 2566 นำร่องร่วมกับ “กลุ่มใบไม้” ชุมชนคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช โดย ILM เข้ามาเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบธรรมชาติมาผสานกับดีไซน์สมัยใหม่ในรูปแบบ Urban Living ซึ่งยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์วิถีชุมชนที่สวยงามจากผ้ามัดย้อมสู่ชุดห้องนอน New Collection “HAPPY VACATION” ควบคู่กับยกระดับหัตถกรรมท้องถิ่นสู่ความร่วมสมัยระดับสากล
ขณะเดียวกัน ยังให้คุณค่าและความสำคัญกแก่พนักงาน สร้างความเสมอภาพและเท่าเทียมกันกับแรงงานทุกรูปแบบ
กฤษชนก กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์ “Sustainability is a top concern for consumers” ผู้บริโภคมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการช้อปสินค้าเพื่อความยั่งยืนอย่างมาก โดยมองว่าพฤติกรรมการซื้อสินค้ามีผลต่อโลกอย่างไร และจะเลือกซื้อสินค้า,การบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีดีไซน์เรียบง่าย ทนทานใช้งานได้ยาวนาน เพื่อร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและโลก ขณะเดียวกันก็เพื่อปกป้องตัวเองจากผลของภาวะอากาศที่กำลังวิกฤต บริษัทฯ มีหมวดสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ Dining , Bedroom และ HDI (กลุ่มของใช้ในบ้าน)
“ล่าสุดได้ร่วมกับ “กลุ่มใบไม้” ชุมชนคีรีวง โดยนำทีมดีไซน์เนอร์ลงพื้นที่เพื่อ Development สินค้าร่วมกับตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้เกิดเป็นชุดห้องนอนคอลเล็คชั่น “HAPPY VACATION” โดยตีโจทย์จากภาพความสวยงามของท้องทะเลที่โดดเด่นทางภาคใต้ ให้ความรู้สึกสงบเย็น ผ่อนคลาย ด้วยการใช้โทนสีฟ้า-ครามจากท้องฟ้า และโทนสีขาวจากน้ำทะเลและหาดทราย กับงานออกแบบที่ชูความเรียบง่ายด้วยวัสดุธรรมชาติจากไม้ยางพารา ตกแต่งด้วยผ้ามัดย้อมที่ผ่านกระบวนการทำด้วยมือด้วยสีที่ได้จากพืช-เปลือกผลไม้ธรรมชาติ 100% ซึ่งพร้อมจำหน่าย Q2/2566”
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังคงดำเนินการตามแผนพัฒนาสินค้าร่วมกับกลุ่มชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้เกิดกับชุมชนภาคต่างๆต่อไป รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จากการสนับสนุนสินค้าหัตถกรรมชุมชนและคู่ค้า เป็นต้น