ลุ้นส่งออกอาหารทำนิวไฮ 1.5 ล้านล้าน ออเดอร์ทั่วโลกขาขึ้น

ลุ้นส่งออกอาหารทำนิวไฮ 1.5 ล้านล้าน ออเดอร์ทั่วโลกขาขึ้น
ส่งออกอาหารเติบโตดี ไตรมาสแรกพุ่ง 3.4 แสนล้าน ขยายตัว 10% เหตุเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว ข้าว น้ำตาล ไก่ ออเดอร์มากสุด ชงรัฐรับมือเอลนีโญ่หวั่นกระทบสินค้าเกษตร

นางอนงค์  ไพจิตรประภาภรณ์  ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึง สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารในไตรมาสแรกปี 2566 การส่งออกสินค้าอาหาร มีมูลค่า 346,379 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10มีปัจจัยจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19

นอกจากนี้ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ได้เกื้อหนุนการส่งออกอาหารไทยให้ขยายตัว

ทั้งนี้กลุ่มสินค้าส่งออกที่มีการขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ข้าว ไก่ ผลไม้สด โดยการส่งออกน้ำตาลทรายมีมูลค่า 40,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.3% เนื่องจากหลายประเทศกังวลปัญหาขาดแคลนอาหาร มีการสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อย่างอินเดียได้ต่ออายุมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลออกไปอีก 1 ปี ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ดังกล่าว

ขณะที่การส่งออกข้าวมีมูลค่า 38,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 เนื่องจากผลผลิตข้าวที่มีจำกัดในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญและความกังวลขาดแคลนอาหาร ทำให้ประเทศผู้บริโภคเสริมสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น

สำหรับการส่งออกไก่มีมูลค่า 36,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 โดยเป็นไก่สดแช่แข็งที่ส่งออกไปจีนเป็นหลัก ส่วนไก่แปรรูปขยายตัวดีในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ขณะที่การส่งออกผลไม้สด
มีมูลค่า 27,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.4 จากการส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก หลังจีนยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ระยะเวลาขนส่งสินค้าสั้นลง ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าส่งออกหลักหลายรายการหดตัวลง เนื่องจากประสบปัญหา 2 ด้าน คือ 1. วัตถุดิบมีปริมาณลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด และ 2. ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าที่พึ่งพิงตลาดหลักดังกล่าวหดตัวลง เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องปรุงรส เป็นต้น รวมถึงค่าเงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าต่อเนื่อง กระทบความสามารถในการนำเข้าของญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นหลายรายการหดตัวลงค่อนข้างมาก อาทิ ไก่ (-6%), กุ้ง (-20%), สับปะรด (-40%), เครื่องปรุงรส (-40%) เป็นต้น

“แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จะหดตัวแต่การส่งออกสินค้าไปยังตลาดตลาดรองหรือตลาดใหม่ เช่น เอเชียใต้ กลุ่มประเทศอ่าว (GCC) ละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศประชาคมรัฐเอกราช (CIS) ขยายตัวในระดับสูง รอการรุกตลาดและเพิ่มพูนปริมาณการค้าอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต”

นางอนงค์  กล่าวว่า แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2566 การส่งออกสินค้าอาหารจะหดตัวลงในไตรมาสที่ 2 จากฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อน แต่จะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 หรือในครึ่งปีหลังของปี 2566

 

ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 734,459 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.0 และกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 5.2 ในครึ่งปีหลัง มูลค่าส่งออก 765,541 ล้านบาท โดยภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ซึ่งจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ (New high)

 

ด้านปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 1.ภาครัฐมีนโยบายฟื้นฟูและการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว บริการ  การค้าและการลงทุน  2.  การขาดแคลนอาหารตลอด Supply Chain ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนาและตลาดในภูมิภาคตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19

 

3. ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร (Food Safety) ทำให้หลายประเทศและผู้บริโภคมีความต้องการสำรองอาหารเพิ่มมากขึ้น 4. ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดผู้นำเข้าทั่วโลก

 

และ 5.จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการขนส่งสั้นลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตามอยากฝากข้อเสนอสำหรับรัฐบาลใหม่ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ 3 เรื่อง คือ1.สนับสนุนการทำเกษตรแบบรวมผลิต รวมจำหน่าย (เกษตรแปลงใหญ่หรือสหกรณ์) หาแหล่งเงินทุนเพื่อผลักดันผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตยั่งยืน 2. สร้างระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้ BCG โมเดล และ3.สนับสนุนผู้ประกอบการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ในการยกระดับสินค้าพื้นฐาน (Basic food) ไปสู่อาหารอนาคต (Future food)

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์  รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงและเป็นปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อาทิ ค่าฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส เป็นต้น  2. ความกังวลของเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงิน

 3.ภาวะเศรษฐกิจและปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐฯ กระทบกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 4. เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าต่อเนื่อง กระทบต่อกำลังซื้อของคนญี่ปุ่น และการนำเข้าสินค้าจากภายนอก 5. ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และ 6. ผลผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญลดปริมาณลง และราคาปรับตัวสูง เช่น สับปะรดโรงงาน หัวมันสำปะหลัง กุ้ง ปลาทูน่า เป็นต้น

 

“ตอนนี้เรื่องภัยแล้งก็น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการจัดการเรื่องน้ำเพราะจะกระทบกับภาคเกษตร  ซึ่งห่วงนโยบายรัฐบาลใหม่ ที่จะใช้ปกครอง เพราะวันนี้ยังจับต้องไม่ได้กับนโยบายที่หาเสียง  ทั้งมหภาคและจุลภาค  ยังไม่เห็นนโยบายอะไรเลย  คิดได้พูดได้ แต่อาจทำไม่ได้  นอกจากนี้ จะทำให้เกิดความต่อเนื่องอย่างไร ไม่อยากให้รื้อในสิ่งที่ทำมาแล้ว”

 

TAGS: #ส่งออกอาหาร #เอลณีโญ่ #ภัยแล้ง #สินค้าเกษตร