2 ยักษ์สื่อสารโชว์รายได้Q1 AIS กำไรพุ่ง7.1% TRUE ผู้ใช้งานเพิ่ม 1.4% สวนเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจคลี่คลาย

2 ยักษ์สื่อสารโชว์รายได้Q1 AIS กำไรพุ่ง7.1% TRUE ผู้ใช้งานเพิ่ม 1.4% สวนเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจคลี่คลาย
ปิดไตรมาสแรกปี 2566 ธุรกิจภาคบริการสื่อสารโทรคมนาคม 2 รายใหญ่ เอไอเอส และทรู (หลังควบรวมกิจการดีแทค) ยังเติบโตแข็งแกร่งทั้งรายได้ กำไร รวมถึงผู้ใช้บริการมือถือที่เพิ่มขึ้น สวนภาวะเงินเฟ้อในช่วงต้นปี

รายงานข่าวระบุ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ กล่าวว่าหลังสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของกำลังซื้อของผู้บริโภค และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภาพรวมจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศถึง 6.5 ล้านคน ในขณะที่ผู้คนในประเทศก็เริ่มออกมาเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ AIS อยู่ในระดับน่าพอใจ

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 1/2566 แสดงรายได้รวม อยู่ที่  46,712  ล้านบาท เติบโต 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิที่  6,757  ล้านบาท แสดงถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมกับการเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและส่งมอบคุณภาพและความครอบคลุมของโครงข่าย 5G และ เน็ตบ้าน อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ความสามารถในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพทำให้สามารถส่งมอบ EBITDA อยู่ที่ 22,636 ล้านบาท เติบโต 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน และคงระดับความสามารถในการทำกำไร EBITDA margin ที่แข็งแกร่งที่ 48.5% โดยมีผลการดำเนินงานแยกตามรายธุรกิจดังนี้

เอไอเอส โตทุกกลุ่มธุรกิจ

  • ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้จากการให้บริการเติบโตขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน มีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมที่ 46.1 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 108,000 ราย  ในขณะที่มีผู้ใช้งาน 5G อยู่ที่กว่า 7.2 ล้านราย เติบโตขึ้นจาก 2.8 ล้านราย ในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา โดย AIS สามารถให้บริการ 5G ครอบคลุมถึง 87% ของพื้นที่ประชากรไทย ควบคู่ไปกับการขยายขีดความสามารถเพื่อให้รองรับกับปริมาณการใช้งานของลูกค้าและคนไทย
  • ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีรายได้เติบโตกว่า 11% จากไตรมาส 1 ปีก่อน และเติบโตต่อเนื่อง 4.3% จากไตรมาสก่อน โดยมีการขยายพื้นที่การให้บริการอย่างต่อเนื่องมุ่งตอบโจทย์ทุกพฤติกรรมของลูกค้า อย่างความพร้อมในการให้บริการ WiFi 6E เทคโนโลยีมาตรฐานสัญญาณไร้สายใหม่บนคลื่นความถี่ใหม่ 6GHz เป็นรายแรกของอุตสาหกรรมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในเมืองไทย

รวมถึงการสร้างมาตรฐานใหม่ด้วยเทคโนโลยีสายไฟเบอร์ออฟติกโปร่งใส (Transparent Fiber Optic) เชื่อมโยงอุปกรณ์กระจายสัญญาณและสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ Gigabit ทุกห้องภายในบ้านบนโครงข่ายเดียวกันเพื่อประสบการณ์ที่ดีที่สุดทุกพื้นที่ในบ้าน

ส่งผลให้ AIS Fibre มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 99,000 รายต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และมีฐานลูกค้ารวมกว่า 2.3 ล้านราย

  • ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและธุรกิจอื่น โดย AIS Business ทำรายได้เติบโต 5.2% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน

สมชัย กล่าวว่า “ในปีนี้ AIS ยังลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 27,000-30,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับโครงข่ายและการให้บริการสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะด้วยการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วน โดยใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาสร้างการเติบโตร่วมกันให้กับลูกค้า คนไทย และประเทศชาติ จนเกิดเป็น ECOSYSTEM ECONOMY ซึ่งจะทำให้ AIS สามารถส่งมอบประสบการณ์และบริการดิจิทัล ทั้งโครงข่ายสื่อสารอัจฉริยะ และเน็ตบ้าน ให้กับลูกค้าทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

TRUE คว้าเรทติง A+ หลังควบรวมดีแทค

ด้าน มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2566 นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัท จากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทที่ควบรวมใหม่ในนาม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มุ่งสู่การเป็นผู้นำของบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี และสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยบริการ 5G บนคลื่น 2600 MHz และความครอบคลุมของเครือข่าย 4G/5G ที่ดีขึ้นบนคลื่น 700 MHz ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยนับตั้งแต่การควบรวมเสร็จสมบูรณ์ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังช่วยให้สามารถดำเนินการตามแผนบูรณาการและบรรลุผลตามแผนระยะสั้นในการทำงานร่วมกัน

กลุ่มทรู ดิจิทัล โซลูชัน มีรายได้เพิ่มขึ้น 92% (YoY) จากธุรกิจนวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Solutions) และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถขยายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ

กลุ่มธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ ยังสร้างรายได้เติบโต 62% (YoY) นำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วและเสริมความแข็งแกร่งด้วยการสร้างระบบนิเวศร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ประกอบการประกันภัยและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ง่ายและสะดวกขึ้น

มนัสส์ กล่าวว่า “การฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานทำให้เกิดแรงกดดันด้านต้นทุนต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค การแข่งขันในอุตสาหกรรมมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ขึ้นเล็กน้อยจากการที่ผู้ประกอบการมุ่งเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การรวมบริการ และไลฟ์สไตล์โซลูชันสำหรับลูกค้า แม้จะมีความท้าทายต่างๆ แต่ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังยึดมั่นในการให้ความสำคัญตามแผนกลยุทธ์ การดำเนินการตามแผนบูรณาการ และการบรรลุผลประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน”

 โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ผู้ใช้บริการมือถือเพิ่มขึ้น 676,000 เลขหมาย ไปอยู่ที่ระดับ 50.5 ล้านเลขหมาย หรือเพิ่มขึ้น 1.4% จากไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ผู้ใช้บริการ 5G มีจำนวนถึง 6.3 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) โดยมีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และ 5G มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ที่เพิ่มขึ้น 10-15% ผู้ใช้งานดิจิทัลรายเดือน (MAU) สูงถึง 35.8 ล้านราย เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยได้ได้แรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากแคมเปญชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน หรือ Better Together หลังจากการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ยอดผู้ใช้งานดิจิทัล (MAU) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 46.0 ล้านราย จากการถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022)

รายได้มือถือลด สวนผู้ใช้งานเพิ่ม

นกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "รายได้จากการให้บริการของเรายังอยู่ภายใต้ภาวะ ARPU ที่ลดลงจากผลกระทบการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง  โดยไตรมาสแรก รายได้รวมลดลง 2.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)  เนื่องจากการลดลงในส่วนของการให้บริการมือถือและออนไลน์

ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการมือถือลดลง 2.5% (YoY) เนื่องจาก ARPU ลดลงแม้ว่าจำนวนผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้น รายได้จากบริการออนไลน์ลดลง 2.3 % (YoY) จากยอดขายบรอดแบนด์ของลูกค้าที่ลดลงท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งชดเชยด้วยการเติบโตของยอดขายองค์กรภาคธุรกิจ รายได้จากการขายสินค้าลดลง 28.9 % (YoY) เนื่องจากปริมาณการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ลดลง และการเปิดตัว iPhone ที่เร็วขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565”

จากงบการเงินเสมือนสำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ทั้งหมด ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) ลดลง 5.2% (YoY) จากมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนค่าสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

สำหรับ EBITDA ในไตรมาสนี้ดีขึ้น 10.1% (QoQ) จากผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time effect) จากการเจรจาสัญญาในไตรมาส 4 ปี 2565 การยุติข้อพิพาทที่กำลังดำเนินอยู่ที่เป็นผลในเชิงบวกในไตรมาส 1 ปี 2566 และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ผลขาดทุนสุทธิหลังหักภาษีอยู่ที่ 492 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบเชิงบวกจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและการชำระค่าสินไหมทดแทนบางส่วน ขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2565 ได้รับผลกระทบเชิงลบจากค่าใช้จ่ายรายการพิเศษ (Non-recurring expenses) ประมาณ 8.5 พันล้านบาท

โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ และการด้อยค่าสินทรัพย์ประจำปี ค่าใช้จ่ายลงทุน (CAPEX) ในไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวน 17,565 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นในการยกระดับประสบการณ์ และการขยายความจุของเครือข่ายก่อนการควบรวมกิจการ ทั้งนี้ จากการที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการเพิ่มเรทติ้งใหม่เป็น "A+" คาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงจากการที่หนี้เก่าครบกำหนดและรีไฟแนนซ์ภายใต้อันดับเครดิตองค์กรใหม่"

 อย่างไรก็ตาม  ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงมุ่งหน้าเร่งสร้างการผนึกกำลังรายได้ โดยใช้โอกาสการเสนอขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของลูกค้าทั้งแบบ cross selling และ upselling พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับปี 2566 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คาดการณ์การเติบโตคงที่สำหรับรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) และ การเติบโตคงที่ถึงการลดลงในอัตราร้อยละที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ (low single-digit)  สำหรับ EBITDA ทั้งนี้ เงินลงทุน หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 25,000 – 30,000 ล้านบาท

 

สำหรับแนวโน้มปี 2566 จะนับจาก 10 เดือนหลังจากที่ควบรวมเสร็จ ทั้งนี้ การคาดการณ์ของปีดังกล่าวยังอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมในภายหลังเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจของบริษัท และการดำเนินงานของบริษัทหลังการควบรวม ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการ

ตัวเลขสำคัญทางการเงินในไตรมาส 1 ปี 2566 (ตามงบการเงินเสมือน)

  • รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จำนวน 38,985 ล้านบาท ลดลง 2.0% (YoY) 
  • EBITDA อยู่ที่ 19,452 ล้านบาท ลดลง 8.7% (YoY)
  • อัตรากำไร EBITDA (เมื่อเทียบกับรายได้รวม) อยู่ที่ 37.5%
  • ขาดทุนสุทธิ จำนวน 492 ล้านบาท

TAGS: #เอไอเอส #ดีแทค #มือถือ #สื่อสาร