กนอ.เผยผลโรดโชว์แดนกิมจิ นักลงทุน 4 รายปักหมุดนิคมฯไทย กลุ่มรถ EV -เครื่องมือแพทย์ เรียกร้องรัฐหั่นราคาติดตั้ง Battery Charging
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (กนอ.) เปิดเผยถึงภาพรวมการร่วมเดินทางไปโรดโชว์ที่สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระหว่างวันที่ 15-18 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ในส่วนของ กนอ.ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยในวันแรกมีการร่วมกิจกรรมสัมมนาการลงทุน ภายใต้หัวข้อ “Thailand Investment Promotion Strategy : NEW Economy NEW Opportunities” และได้พบปะหารือกับบริษัทกลุ่มเป้าหมายกว่า 40 บริษัท และในช่วงบ่ายของวันเดียวกันยังมีการประชุมรายย่อย (One on One Meeting) กับกลุ่มเป้าหมายเป็นรายบริษัท
ทั้งนี้มีนักลงทุน 4 รายที่สนใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1.นักลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2.นักลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการผลิตที่เคลือบกระจกรถยนต์แบบพิเศษกันฝ้า
3.นักลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ (Medical Hub) และเทคโนโลยีที่ใช้เกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัด เครื่อง X-ray เป็นต้น และ 4. นักลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการผลิตอะไหล่ยานยนต์ โดยนักลงทุนทุกรายสนใจจะเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมแถบอีอีซีและบริเวณใกล้เคียง
“คาดว่าเงินลงทุนทั้งหมดจาก 4 บริษัทที่สนใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ประมาณ 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนอีก 1 ราย ที่สนใจลงทุนกับ กนอ. โดยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพลังงานทางเลือก ( Renewable Energy) มูลค่าการลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาทอีกด้วย”
นายวีริศ กล่าว สำหรับกิจกรรม Roundtable (กิจกรรมความร่วมมือแบบกลุ่ม) กับ นายปาร์ค แจ ฮง (Mr.Park, Jae Hong) ประธาน Korea Electric Vehicle Industry Association (KEVIA) ซึ่งเป็นสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของเกาหลีใต้นั้น ได้มอบหมายให้น.ส.นลินี กาญจนามัย ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายงานบริหาร เข้าร่วมกิจกรรม หารือกับสมาชิก KEVIA เพื่อรับฟังความคิดเห็น ให้ข้อมูลสิทธิประโยชน์ ข้อมูลการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย
รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความชัดเจนในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านธุรกิจของประเทศไทย โดยมีนักลงทุนเกาหลีเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ประมาณ 25 บริษัท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงถาม-ตอบ นักลงทุนเกาหลีมีประเด็นข้อสงสัย อาทิ 1.ความต้องการสิทธิประโยชน์ในการนำเข้าและผลิตรถประเภทรถโดยสารไฟฟ้า (BUS EV) และรถบรรทุกไฟฟ้า (Truck EV) ในประเทศไทย 2.ความต้องการสิทธิประโยชน์หรือการลดราคาในการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (Bettery charging station) ในประเทศไทย
3.ความต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนและช่วยเหลือในเรื่องการลดราคาการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (Bettery charging station) ในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีมีการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก และ 4.ต้องการให้ กนอ. และ บีโอไอ จัดกิจกรรมพานักลงทุนเกาหลีศึกษาดูงานโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทย เพื่อพิจารณาและศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในประเทศไทยต่อไป