‘ไพ่อี้จิง’ คัมภีร์การเปลี่ยนแปลง ศาสตร์มหัศจรรย์ แห่งการค้นหาคำตอบ ความลับหยิน-หยาง ต้นกำเนิดเลขฐาน 2
ในทางโหราศาสตร์จีน นอกจากวิชาฮวงจุ้ย นรลักษณ์ศาสตร์ (โหวงเฮ้ง) การตรวจข้อมูลจากวันเดือนปีเกิด ของแต่ละเจ้าชะตา เพื่อนำมาวิเคราะห์ออกมาเป็น ‘คำพยากรณ์’ ให้กับผู้ที่กำลังหาคำตอบในการตัดสินใจในบางอย่างแล้ว
นอกจากนี้ยังมี ‘ไพ่อี้จิง’ (易經, I Ching) ที่ถูกขนานนามว่า ‘คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง’ เพราะคำตอบที่ได้รับจากไพ่นั้นยังเป็นหนึ่งศาสตร์ที่มีความแม่นยำ จากสถิติที่อิงตามหลักการทางคณิตศาสตร์เลขฐานสอง (Binary Digit) จนทำให้ชาวตะวันตกหันมาสนใจศึกษาความมหัศจรรย์ของไพ่อี้จิง นี้อย่างจริงจัง ด้วยเช่นกัน
‘ปรัชญา รมหุตติฤกษ์’ หรือ ซินแสปรัชญา เจ้าของฉายา‘ปรัชญา เปิดฟ้า’ กล่าวกับ The Better ถึงที่มาของไพ่อี้จิง ที่ต้องย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ยุคเริ่มต้นอารยธรรมจีนตั้งแต่ 5,000 ปีก่อน ตามตำนานไพ่อี้จิงนั้น อ้างถึงเทพเจ้าองค์หนึ่งนามว่า ‘ฟูซี’ เป็นผู้ปกครองโลกมนุษย์ และได้ประดิษฐ์ระบบสัญลักษณ์ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับมนุษย์ โดยใช้เส้นทึบ (-) เรียกว่าหยาง และ เส้นปะ (---) เส้นหยิน มีทั้งหมด 8 สัญลักษณ์ เรียกว่า ‘ฉักลักษณ์’
อีก 3,000 ปีต่อมา ในสมัยราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty) มีการเพิ่มสัญลักษณ์ไพ่อี้จิง จากการประกบกันระหว่างเส้นหยางและเส้นเหยินเดิมที่มีอยู่ 8 สัญลักษณ์ มาเพิ่มจำนวนอีก 8 เท่า (8x8) จนมีจำนวนเป็น 64 สัญลักษณ์ และจากทั้ง 64 สัญลักษณ์เหล่านี้ ปราชญ์ชาวจีนสมัยโบราณ ยังได้นำมาใช้เป็นคัมภีร์ที่สามารถนำมาใช้พยากรณ์ได้ในทุกๆเรื่องในแต่ละช่วงเวลา สถานการณ์ ของผู้คน ไปจนถึงเรื่องการเมือง ซึ่งสามารถใช้ประกอบคู่กับศาสตร์อื่นๆของจีนได้อีกหลายแขนง อย่างฮวงจุ้ย หรือ การตรวจดวงชะตาชีวิต ฯลฯ
ซินแสปรัชญา เล่าต่อถัดมาในยุค ‘ขงจื๊อ’ นักปราชญ์สำคัญของจีนรายนี้ได้นำศาสตร์แห่งไพ่อี้จิงจิง มาเรียบเรียงใหม่และต่อยอดประยุกต์ใช้ร่วมกับการแพทย์จีน พร้อมนำไปใช้ในการพัฒนาทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ การเมือง การปกครอง ไปจนถึงโหราศาสาตร์ในการทำนาย ฮวงจุ้ย โหวงเฮ้ง
“ขงจื๊อ รักในศาสตร์นี้มากโดยได้ศึกษาและพัฒนาคัมภีร์ไพ่อี้จิงมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยแพร่ให้กับลูกศิษย์ไปทั่วโลก จากความมหัศจรรย์ของไพ่อี้จิง คือ มีความเรียบง่าย ค้นหาคำตอบที่ลึกซึ้งได้ ซึ่งการใช้ศาสตร์อี้จิงในสมัยโบราณผู้คนจะใช้กิ่งไม้ในการทำนาย แต่ปัจจุบันได้ประยุกต์ใช้ไพ่และรูปภาพเพื่อสื่อความหมายแทนทั้ง 64 สัญลักษณ์ เพื่อความสะดวกมากขึ้น” ซินแสปรัชญา เสริม
ซินแสปรัชญา บอกอีกว่า จากความมหัศจรรย์แห่งการไขคำตอบของไพ่อี้จิง ที่ถูกเรียกว่า ‘คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง’ นั้น ยังได้รับความสนใจจากโลกตะวันตก หลังจาก ‘โจอาคิม บูเวต์’ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ที่นอกจากจะเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศจีนแล้ว ยังได้ทำการศึกษาด้านวัฒนธรรมอื่นๆของจีนเพิ่มด้วย ตามความต้องการของรัฐบาลฝรั่งเศสในยุคนั้นด้วย
“ในช่วงเวลานั้นตรงกับพ.ศ. 2231 หรือยุคสมัยพระนารายณ์ของไทย โดยโจอาคิมพร้อมคณะได้เดินทางไปยังเมืองปักกิ่งและได้พบกับศาสตร์อี้จิง ที่สร้างความทึ่งให้กับเขาถึงความหัศจรรย์ของคัมภีร์ พร้อมส่งเรื่องราวของอี้จิงกลับไปยังประเทศฝรั่งเศส ที่ต่อมาได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการคิดเลขฐานสองที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อศึกษาให้ลึกลงไปอีกยังพบว่าศาสตร์อี้จิงยังมีโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวจ้องกับโครโมโซม พันธุกรรมของมนุษย์ อีกด้วย” ซินแสปรัชญา เล่า
‘บูเวต์’ ได้ส่งแผนภาพอี้จิง 64 ฉักลักษณ์ ไปให้กับ Gottfried Wilhelm Leibniz (กอตต์ฟรีด วิลเฮล์ม ไลบ์นิซ) เพื่อนสนิทซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน (ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งแคลคูลัสเชิงอนุพันธ์)
โดย ‘ไลบ์นิซ’ สังเกตว่า รูปแบบ I Ching (อี้จิง) นั้นเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับเลขฐานสอง (Binary) เริ่มจาก 0 กับ 1 แทน หยินกับหยาง และประกอบกันไปเรื่อยๆจาก 2ยกกำลัง1 เป็น2 จนถึง2ยกกำลัง 6 จนเป็น 64 รูปแบบ “จาก 000000 ถึง 111111 ซึ่งเป็นต้นแบบของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน” เรียกว่าเป็นความมหัศจรรย์โดยธรรมชาติ ในประการแรก
ขณะที่ผลงานของ งานของไลบ์นิซ นั้นได้มีอิทธิพลต่อนวัตกรรมทางเทคโนโลยีหลายศตวรรษ กระทั่ง
ในวันเกิดครบรอบปีที่ 372 ของไลบ์นิซ ยังได้รับเกียรติในระดับสากลโดย Google Doodle ระบุให้เป็นวันสำคัญในฐานะที่เขาเป็นนักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ในศตวรรษที่ 17 จากการพัฒนาระบบเลขฐานสองที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ด้วยวิธีการเขียนรหัสฐานสองของเขาได้อ้างอิงโดยตรงกับรูปหกเหลี่ยมและแนวคิดเกี่ยวกับจักรวาลวิทยา ที่พบในคู่มือศตวรรษที่ 9 I Ching อีกด้วย
โดยเมื่อเขาได้เห็นการแสดงเลขฐานสองในตำราจีนโบราณ หลักการของอี้จิงจึงได้ถูก ไลบ์นิซนำมาใช้กับการเขียนระบบเลขฐานสองต่อไป จนในที่สุดได้กลายเป็นภาษาของคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ที่ยังใช้กันอยู่ในทุกวันนี้
ปัจจุบันไพ่อี้จิง ได้ถูกนำมาใช้ในการทำนายอย่างแพร่หลายมากขึ้น ด้วยหลักการของไพ่อี้จิงมีความเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์จีนด้านฮวงจุ้ย เช่นกัน ด้วยผู้ที่จะศึกษาฮ้วยจุ้ยนั้น จำเป็นต้องมีความรู้ศาสตร์อี้จิงเพื่อประกอบใช้พยากรณ์ในภาพรวมที่สอดคล้องกันด้วย
โดยไพ่อี้จิงนี้ สามารถตอบคำถามได้ครอบคลุมทั่วจักวาล ซึ่งการดูไพ่อี้จิง 1 ครั้งจะทำการเปิดไพ่ทั้งหมด 3 รอบ ในรอบแรกเป็นการทำนายในภาพกว้าง/ภาพรวมของเจ้าชะตาผู้นั้น ในรอบสอง ผู้รับคำทำนายจะสามารถถามคำถามที่ต้องการได้ 3 คำถาม จากการเลือกไพ่อี้จิงเป็นผู้ให้คำตอบ และในรอบสุดท้ายจะใหผู้ระบคำทำนาย ถามได้เพียง 1 คำถามเท่านั้น
สำหรับการดูไพ่อี้จิงนั้น สามารถดูได้บ่อยครั้งตามที่ต้องการ ส่วนคำตอบที่ได้รับว่ามีความแม่นยำมากน้องเพียงใดนั้น ซินแสปรัชญา กำชับว่าขึ้นอยู่กับวิจารณาญานของแต่ละคน ซึ่งการอ่านไพ่อี้จิงนั้นอยากให้เป็นการดูเพื่อสร้างความผ่อนคลายจากคำทำนายที่ได้รับมากกว่า