รอ..ค่าไฟงวดสุดท้ายของปีลดได้สูงสุด 70 สต.

รอ..ค่าไฟงวดสุดท้ายของปีลดได้สูงสุด 70 สต.
ปลัดพลังงานส่งสัญญาณค่าไฟฟ้ารอบ ก.ย.-ธ.ค. ลดได้ 50-70 สต.เหลือหน่วยละ 4 บาท ส่วนข้อเสนอพรรคการเมืองให้ลดค่า AP ทำได้แต่มีผลต่อเอฟทีแค่ 10 สต.

นายกุลิศ  สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผย ถึงสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาเริ่มคลี่คลายลง ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG โดยราคาตลาดจร หรือ SPOT LNG ณ วันนี้ อยู่ที่ประมาณ 10.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เมื่อต้นทุนต่ำลง ก็สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ โดยค่าไฟฟ้า งวดที่ 3 ของปีนี้ (เดือนกันยายน-ธันวาคม) สามารถลดลงได้แน่ๆ 40-50 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต้นๆ แต่ถ้าหากในระยะต่อไป ราคา SPOT LNG ลดลงอีก เหลือประมาณ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู  และปตท. สามารถซื้อได้ในราคาดังกล่าว ก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ 70 สตางค์ต่อหน่วยจากราคาค่าไฟฟ้างาดปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย

ด้านแนวโน้มการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น จากการที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือปตท.สผ.อยู่ระหว่างเพิ่มกำลังผลิตแหล่ง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ ให้ได้ 500  ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน โดยคาดว่าจนถึงปลายปีจะผลิตเพิ่มเป็น 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน  และ ในเดือนมีนาคม 2567 จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG  จะลดลงจากที่ ปตท.คาดการณ์ไว้ว่าจะนำเข้า 99 ลำ เหลือประมาณ 70 ลำ  และการที่ราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทยมีราคาถูกกว่า LNG  โดยมีราคาที่ประมาณ 5-6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อีก

ดังนั้นนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ว่าจะลดค่าไฟฟ้านั้น สามารถทำได้แน่นอนอย่างน้อย 50 สตางค์ต่อหน่วย เพราะต้นทุนก๊าซฯโดยรวมถูกลง

ส่วนการลงนามข้อตกลง( MOU )ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวานนี้(22 พ.ค. )  ซึ่งมีเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนนั้น  ยังไม่ทราบทราบละเอียด ซึ่งทางกระทรวงฯจะติดตามและเตรียมทำข้อมูล ว่าจะมีการปรับเปลี่ยน แก้ไขได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการปรับแผนพัฒนาไฟฟ้าหรือ PDP จะสามารถทำได้ขนาดไหน

นายกุลิศ  กล่าวว่า ทิศทางพลังงานโลกกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จึงควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการตลาดพลังงานให้สมดุล และสอดรับกัน หรือพัฒนาเพื่อตอบรับความต้องการต่างๆ  กระทรวงพลังงานต้องเตรียมแผนรองรับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลใหม่ ซึ่งนอกจากเรื่องค่าไฟฟ้า ยังมีเรื่องของพลังงานหมุนเวียนต่างๆ รัฐจะเดินหน้าส่งเสริมต่อหรือไม่  เช่น Net metering ของโซลาร์รูฟท็อป  จะเป็นอย่างไร โรงไฟฟ้าชุมชนจะส่งเสริมต่อหรือไม่ ต้องจึงรอฟังนโยบายจากรัฐบาลใหม่และมีการวางแผนร่วมกัน เพื่อนำไปแถลงในรัฐสภา

“ประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอให้เจรจากับภาคเอกชนเรื่องการปรับลดค่าความพร้อมจ่าย (AP)เป็นสิ่งที่สามารถเจรจาได้ แต่ต้องใช้เวลาและความพยายามพอสมควร ซึ่งต้นทุนค่า AP อยู่ในส่วนของต้นทุนค่าไฟฐาน มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2537 แล้ว คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ไม่มากเท่ากับต้นทุน LNG ดังนั้นหากบริหารจัดการ LNG ดี ก็จะสามารถลดลงได้ 50-60 สตางค์อยู่แล้ว”

ส่วนมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท/ลิตรนั้นตามแผนจะสิ้นสุดในวันที่ 20  กรกฎาคม 2566 ดังนั้น ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากขึ้นในอัตรานี้  ราคาน้ำมันดีเซล ปรับขึ้นเป็น 37 บาทต่อลิตรทันที จากราคาปัจจุบัน 32 บาทต่อลิตรและต้องมาพิจารณาว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้ามาช่วยอย่างไรได้บ้าง ค่าการตลาดควรเป็นเท่าไร  โดยปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสถานะที่ดีขึ้นจากเดิมติดลบสูงสุดเกือบ 1.4 แสนล้าน แต่ขณะนี้เหลือเพียงลบ 72,000 ล้านบาท

 

TAGS: #ค่าไฟฟ้า #LNG #AP #ภาษีน้ำมัน