ลิสซิ่งเข้มงวดฉุดยอดป้ายแดงวูบ รอตั้งครม.เคาะEV 3.5

ลิสซิ่งเข้มงวดฉุดยอดป้ายแดงวูบ รอตั้งครม.เคาะEV 3.5
ส.อ.ท.หวังคลอดรัฐบาลใหม่เรียกเชื่อมั่น ยอดขายป้ายแดงลดเหตุลิสซิ่งปล่อยยากดอกเบี้ยแพง   ค่ายรถรี รอเคาะแพจเกจใหม่ EV3.5

นายสุรพงษ์  ไพสิฐพัฒนพงษ์  รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนเม.ย. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 59,530 คัน ลดลงจากเดือนมี.ค. 2566 ร้อยละ 25.53 และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 6.14 โดยมีสาเหตุจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นเพิ่มขึ้นอีก

 ขณะที่รถจักรยานยนต์ มียอดขาย 123,959 คัน ลดลงจากเดือนมี.ค.2565 ร้อยละ 32.80 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. 2565 ร้อยละ 1.7 โดยตั้งแต่เดือนม.ค.- เม.ย. 2566 รถยนต์มียอดขาย 276,603 คัน ลดลงจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 6.11 ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 630,525 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. -เม.ย. 2565 ร้อยละ 10.62

“หวังว่ายอดขายรถยนต์จะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ปีนี้ 9 แสนคัน  หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว และมีการผ่อนคลายมาตรการดอกเบี้ย ก็น่าจะทำให้ช่วงครึ่งหลังของปียอดขายกลับมาดีขึ้นได้”

สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนเม.ย. 2566 มีทั้งสิ้น 117,636 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2565 ร้อยละ 0.13 จากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ลดลงร้อยละ 11.31 แต่ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.04 และลดลงจากเดือนมีนาคม 2566 ร้อยละ 34.59 เพราะวันทำงานน้อยกว่า  โดยในช่วง 4 เดือนแรก ยอดผลิตมีจำนวนทั้งสิ้น 625,423 คัน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.61 จากปีก่อน ซึ่งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2566 ตั้งไว้ที่ 1,950,000 คัน โดยยังคาดหวังว่าครึ่งปีหลังเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยจะทำให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อการเช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น

ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกเดือนเม.ย. 2566 ผลิตได้ 67,907 คัน เท่ากับร้อยละ 57.73 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 10.04 โดย4 เดือนแรก ผลิตเพื่อส่งออกได้ 356,037 คัน เท่ากับร้อยละ 56.93 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 11.40

ด้านการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนเม.ย. 2566 มีจำนวน 79,940 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว ร้อยละ 18.74 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2565 ร้อยละ 43.53 เพราะผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.06 และ 6.06 ตามลำดับจากฐานต่ำของปีที่แล้วเนื่องจากขาดแคลนชิปจากสงครามยูเครนและการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน เดือนเมษายนจึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกออกกลาง แอฟริกา และยุโรปมูลค่าการส่งออก 50,164.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2565 ร้อยละ 49.83

สำหรับช่วง 4 เดือนแรก ของปี 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 353,632 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 18.38 มีมูลค่าการส่งออก 218,286.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.88

นายสุรพงษ์   กล่าวถึง ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนเม.ย.รถยนต์จดทะเบียนใหม่จำนวน 5,181 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ320.88  ขณะที่4 เดือนแรกของปี มีรถยนต์ จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน      26,233 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 534.41

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV มียอดจดทะเบียนใหม่เดือนเม.ย. 6,198 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.62  โดย 4 เดือนแรก มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน  30,634 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40.97  และยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV มียอดจดทะเบียนใหม่เดือนเม.ย. 784 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.33

นายสุรพงษ์ กล่าวถึง นโยบายของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งที่มีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำราว 450 บาทต่อวันว่า ผู้ประกอบการรถยนต์ไม่ได้กังวลเนื่องจากค่าแรงสูงกว่าขั้นต่ำอยู่แล้วแต่ยังห่วงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์  และผู้ประกอบชิ้นส่วนยานยนต์จากวัตถุดิบ ที่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและย่อม(SMEs) จะมีผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผ่านให้กับผู้ผลิตรถยนต์ที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเช่นกันจึงต้องติดตามในเรื่องนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

 นอกจากนี้ในส่วนของนโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ EV 3.5 ที่ยังไม่ได้มีการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพราะเกิดยุบสภาก่อนจึงต้องรอรัฐบาลใหม่มาสานต่อซึ่งคาดหวังว่าจะเข้ามาเร่งให้เกิดความต่อเนื่องเพราะมาตรการเดิมที่สนับสนุนนั้นได้สิ้นสุดระยะเวลาปี 2566 และมาตรการส่งเสริมชุดใหม่นั้นจะมีความต่อเนื่องไปถึงปี 2568

TAGS: #EV3.5 #รถยนต์ป้ายแดง #รัสเซีย-ยูเครน