บางจากฯ เอ็มโอยู บินไทย ร่วมศึกษาเทคนิคในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน
นายปฏิวัติ ทิวะศะศิธร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-โรงกลั่น กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านเทคนิคในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนระหว่าง บริษัท บางจาก ฯและบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า เชื่อมั่นความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นกับการบินไทยในครั้งนี้ จะนำไปสู่การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ สามารถเข้าถึงน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนและมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ทั้งนี้ที่ผ่านมาบางจากฯ มุ่งมั่นดำเนินภารกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว” โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ (Balancing the Energy Trilemma) เพื่อจัดหา ผลิต และจัดจำหน่ายน้ำมันและเชื้อเพลิงชีวภาพให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชน
นอกจากนี้ยังพัฒนาและต่อยอดธุรกิจหลักให้เติบโต เร่งขยายสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจสีเขียวและยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งรองรับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
ในปี 2565 บางจากฯ ได้ตั้งบริษัทเพื่อผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนจากน้ำมันใช้แล้ว (Sustainable Aviation Fuel – SAF) เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ตามแผนงาน BCP
316 NET ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม มุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ในปี พ.ศ. 2593
ขณะเดียวกันวางแผนปรับเปลี่ยนโรงกลั่นน้ำมันบางจากเป็นโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง และสำหรับ SAF ไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมันใช้แล้ว แต่ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมการบิน สอดคล้องกับแนวโน้มในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่กำลังเดินหน้าตามเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ FlyNetZero ให้สำเร็จในปี พ.ศ. 2593 เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีภารกิจอื่นๆ ในการร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในสถานีบริการน้ำมันบางจาก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสถานีบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจติดตั้ง EV Charger ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วไทย
การขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ศึกษาและลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ การจัดตั้งแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie และการก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการคาร์บอนเครดิต และเป็นช่องทางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการลดคาร์บอน รวมถึงจัดทำโครงการปลูกป่าเพื่อดูดซับและกักเก็บคาร์บอนโดยธรรมชาติกับหน่วยงานต่าง ๆ
ด้านนายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท การบินไทยฯ กล่าวว่า การบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติที่มีธุรกิจหลัก คือ เป็นสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Carrier) ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และไปรษณีย์ภัณฑ์ทางอากาศอย่างครบวงจร ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ มีเครือข่ายเส้นทางการบินครอบคลุมกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 63 ปี
ทั้งนี้มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจเพื่อส่งเสริมความสมดุลทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ส่วนบางจากในฐานะกลุ่มบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำของเอเชีย ที่มีการลงทุนเพื่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนจากน้ำมันใช้แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของของเสียภายในประเทศ และยังช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมการบิน
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาคการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ได้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการบิน มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นร้อยละ 2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่อุตสาหกรรมการบินจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกย่อมเพิ่มขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ยังเป็นการร่วมกันแบ่งปัน นำองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย เพื่อดำเนินการศึกษาด้านเทคนิคในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero อีกทั้ง เพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การผสานความร่วมมือด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ควบคู่กับการดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่การเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป