เปิด 3 ทางออกแก้ค่าครองชีพไทยพุ่ง ขึ้นค่าแรงอาจไม่ใช่คำตอบ

เปิด 3 ทางออกแก้ค่าครองชีพไทยพุ่ง ขึ้นค่าแรงอาจไม่ใช่คำตอบ
ส.อ.ท.ชี้ต้องแก้ทุนใหญ่ผูกขาดราคาสาธารณูปโภค ลดการทุจริต ผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการ  อย่าดึงค่าแรงเป็นเงื่อนไขการเมือง

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ตรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า  ปัญหาค่าครองชีพของคนไทยที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมีต้นทุนแฝงมาจาก ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าWi-Fi  รวมทั้ง ค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ

ทั้งนี้มีสาเหตุมาจาก 1.กลไกผูกขาด และ ภาครัฐ ถูกครอบงำโดยทุนใหญ่ผูกขาด ในระดับนโยบาย ,ระดับ Regulator และ ระดับ Operator  รวมถึงระบบสัมปทาน ที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม  การขาดกลไกตลาดเสรี โดยเฉพาะราคาค่าสาธารณูปโภค ที่คนไทยต้องจ่ายแพง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน

2.ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน คือ อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ ของต้นทุนต่างๆที่ตามมาในค่าครองชีพ และค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมทั้งตัวเลขของงบประมาณภาครัฐที่สูญหายไประหว่างทาง ก่อนถึงมือประชาชน ในโครงการต่างๆ  ด้วยเหตุผล “ของฟรีไม่มีในโลก”

อย่างไรก็ตามสาเหตุทั้ง 2 ข้อข้างต้น ล้วนยิ่งสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ ของประชาชนระหว่างคนรวยและคนจนตลอดมาของสังคมไทย ทางออกเรื่องการช่วยเหลือค่าครองชีพ  ของประชาชน โดยภาครัฐ จึงควรเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ปัญหา คือ  1.การแก้ปัญหาทุนผูกขาด 2. การแก้ปัญหาทุจริต คอรัปชั่น

และ 3.การผลักดัน “นโยบายรัฐสวัสดิการ” เพื่อช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชนที่ลำบากในแต่ละประเภท อย่างเหมาะสม เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค , รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย , Free internet  โครงการธงฟ้า ราคาประหยัด ทั้งอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ  เหล่านี้คือสิ่งที่ภาครัฐควรผลักดันอย่างเป็นระบบและทั่วถึง

“หากเราทำทั้ง 3 ข้อแล้วค่าครองชีพของประชาชนและแรงงาน  ก็จะลดลง นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ  ก็จะไม่เป็นเครื่องมือในการหาเสียงของพรรคการเมือง  อย่างที่เป็นมาในอดีต ซึ่งมีแต่จะทำลายเศรษฐกิจโดยเฉพาะ SMEs  ด้วยการล้มหายตายจาก และ เลิกกิจการหรือ การลดจำนวนแรงงาน เพื่อลดภาระต้นทุนค่าแรง  อย่างที่หลายภาคส่วนเป็นกังวล”

นายอิศเรศ  กล่าวว่า ทั้งนี้ยังไม่รวมเงินไหลออกนอกประเทศ จากแรงงานต่างด้าว ที่ได้รับอานิสงส์ ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย  โดยส่วนตัวมองว่าภาคธุรกิจ ยินดีให้ความร่วมมือ ในการจ่ายค่าแรงด้วยนโยบาย Pay by skill และตาม Productivity นั่นหมายถึงภารกิจในการ Up-skill และ Re-skill ควรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ภาครัฐและเอกชนควรทำร่วมกันเพื่อให้แรงงานของเรามีคุณภาพตอบโจทย์ธุรกิจและได้รับค่าแรงที่เหมาะสมและเป็นธรรม  อีกทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ( Competitiveness) ก็จะดีขึ้นตามลำดับ

 

 

TAGS: #ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ #ค่าครองชีพ #รัฐสวัสดิการ