AIS อัปเกรดเยลโล่เพจเจส สู่ ‘Yellow Platform’ รวบตึงบริการดิจิทัล หนุนเอสเอ็มอีไทยโตทั้งระบบ

AIS อัปเกรดเยลโล่เพจเจส  สู่ ‘Yellow Platform’  รวบตึงบริการดิจิทัล หนุนเอสเอ็มอีไทยโตทั้งระบบ
เอไอเอส พาเอสเอ็มอีไทยไปโลกการค้ายุคใหม่ ผ่านแพลตฟอร์ม ดิจิทัล มาร์เก็ตติง ครบลูป ร่วมสภาอุตฯ ดึงสมาชิกจับคู่ธุรกิจและทำตลาดลูกค้าทั่วไป ช่วยดันนิเวศอุตสาหกรรม โตสูงกว่าGDP ไทย

สมุดหน้าเหลือง หรือที่รู้จักในชื่อ ‘เยลโล่เพจเจส’ (Yellow Pages) บริการไดเร็กทอรีส์รวบรวมธุรกิจ สินค้า บริการสุดฮิตในอดีตกว่า 30 ปีก่อน โดยแจกฟรีตามที่พักอาศัย บริษัท ห้างร้านต่างๆ ก่อนถูกพลังแห่งเว็บไซต์เสิร์ชเอ็นจิน ‘กูเกิล’เข้ามาดิสรัปต์บริการให้เฟดหายไป

ส่วนไทยแลนด์ เยลโล่เพจเจส ในไทยถูกนำมาให้บริการโดยบริษัทชินวัตร ไดเร็คทอรี่  ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจแรกในกลุ่มชินคอร์ป พร้อมขยายไปสู่ธุรกิจโทรคมนาคม บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส (AIS) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลี่อนที่ AIS และโครงสรางพื้นฐานเครือข่ายดิจิทัล ล่าสุด AIS BUSINESS ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอี เพื่อสร้างการเติบโตธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศไทย ไปพร้อมกัน

พาเอสเอ็มอีไทย เปลี่ยนผ่านดิจิทัล

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าวว่าเอไอเอสมองเห็นความสำคัญในภาคผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีไทยด้วยเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีไทยในระบบไม่ต่ำกว่า 3.18 ล้านราย สร้างอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ให้ประเทศถึง 34.2% โดยแบ่งสัดส่วนหลัก 33% อยู่ในภาคธุรกิจการค้า สัดส่วน 13% อุตสาหกรรมโรงงาน และ 53% ภาคบริการ ด้วยมีการจ้างงานในระบบกว่า 12.61 ล้านอัตรา

ขณะที่ เอไอเอส พร้อมมีส่วนร่วมเพิ่มขีดขีดความสามารถให้เอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) โดยสอดคล้องกับแผนดำเนินงาน AIS Business ปี2023 ในการร่วมกับพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตเอสเอ็มอีไทยในรูปแบบนิเวศทางเศรษฐกิจ (ECOSYSTEM ECONOMY) ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร์เก็ตติง ครบวงจรทั้งการค้าออนไลน์, อีคอมเมิร์ซ เพื่อร่วมขยายฐานลูกค้าและการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยกลยุทธ์ 7S

AIS SME Mobile Services บริการโทรศัพท์เพื่อการสื่อสาร

AIS SME Internet Services บริการอินเทอร์เน็ต

AIS SME Digital Marketing Services เครื่องมือด้านการตลาดออนไลน์

AIS SME IT & Digital Solutions พัฒนาระบบไอทีหลังบ้าน

AIS SME Full e-Services งานบริการแบบ E-Service ที่อำนวยความสะดวกให้แก่นิติบุคคล

AIS SME Special Privileges สิทธิพิเศษที่ทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้นด้วย AIS SME BIZ UP

AIS SME Strategic Partnership การผนึกกำลังกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ AIS Business มุ่งจับ 4 อุตสาหกรรมหลักเอสเอ็มอี คือ การค้า, การผลิต, บริการ, ดิจิทัล/เทคโนโลยี โดย AIS SME ยังได้ทำแพ็คเกจสำหรับเอสเอ็มอีออนไลน์ สามารถใช้แอปถุงเงิน หรือแอป TikTok ในราคาประหยัด, รวมถึงแพ็กเกจ AIS Fibre พร้อมระบบกล้องวงจรปิด เป็นต้น  

จับคู่ธุรกิจผ่าน เยลโล่ แพลตฟอร์ม

ธนพงษ์ กล่าววว่า เอไอเอสยังได้เปิดตัวบริการใหม่ล่าสุด “Yellow B2B2C e-marketplace” ต่อยอดจากธุรกิจบริการสมุดหน้าเหลืองไทยแลนด์เยลโล่เพจเจส พัฒนาสู่เยลโล่เพจเจสแพลตฟอร์มสำหรับ B2B2C e-marketplace เพื่อเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถต่อยอดธุรกิจทั้งเชิง B2B และ B2C แบบครบวงจร พร้อมเพิ่มช่องทางให้เอสเอ็มอีพบผู้ซื้อทั้งรายใหญ่และรายเล็กได้ง่ายยิ่งขึ้นผ่าน www.yellow.co.th

โดยผู้ซื้อสามารถค้นหาสินค้าและบริการได้ง่ายๆ หรือโพสต์สร้างความต้องการสินค้าหรือบริการ (RFQ Marketplace) เพื่อให้ผู้ขายติดต่อเสนอราคาได้ทันที ผู้ขายยังสามารถเจรจาธุรกิจไปจนถึงปิดการขายได้ผ่านช่องแชท อีกทั้งยังมีเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้ทุกที่ทุกเวลา

“บริการนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ FTI ได้เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกของ FIT สามารถใช้บริการนี้ได้ด้วยข้อเสนอพิเศษอีกด้วย โดยวางเป้าหมายมีสมาชิกเข้ามาในระบบเพิ่มอีกหนึ่งหมื่นราย จากปัจจุบันมีฐานสมาชิกกว่า 5พันราย  จากปัจจุบันเอไอเอสครองส่วนแบ่งกว่า 50% ในตลาดผู้ใช้บริการมือถือกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีอยู่ในระบบ” ธนพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ เอไอเอสยังมีโปรแกรมสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี จาก AIS Serenade และ AIS Points รวมถึงโปรแกรม AIS SME BIZ UP บริการอัปเดตความรู้ เทรนด์ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจแบบพิเศษเฉพาะ และส่วนลดค่าสินค้าและบริการจากพันธมิตร ร้านค้าต่างๆ

 

TAGS: #เอไอเอส #AIS #สมุดเหน้าเหลือง #YellowPages #เอสเอ็มอี #SME