‘พิธา’ร่วมวงหารือหอการค้าฯขายไอเดียนโยบายเศรษฐกิจ ด้าน’สนั่น’ ไม่ขัดปมขยับค่าแรง แต่ไม่ควรรีบหวั่นกระทบต้นทุนผู้ประกอบการ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากการหารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้บริหารพรรค ประกอบด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภโชติ ไชยสัจ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่า ภาคเอกชนมีความยินดีที่การเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนเกิดการตื่นตัวและออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนที่อยากให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงและเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ของการเลือกตั้งในครั้งนี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหอการค้าไทยให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้านโยบายเศรษฐกิจของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะ MOU 23 ข้อ 5 แนวทาง ของพรรคร่วม รวมถึงมติของ 8 พรรคร่วมที่ได้จัดตั้งคณะทำงานประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านใน 7 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหอการค้าฯ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้แนวทาง 1. Connect หอการค้าฯ พร้อมประสานการทำงานกับทุกรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
2. Competitive นโยบายหลายข้อของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ตรงกับหอการค้าฯ โดยเฉพาะเรื่อง Ease of Doing Business การปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัย การส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ไปยังทุกจังหวัด และ 3. Sustainable ซึ่งหลายประเด็นมีนโยบายที่สามารถร่วมกันผลักดันได้ ทั้งปัญหา PM 2.5 ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
สำหรับประเด็นหารือที่เป็นไฮไลต์สำคัญในครั้งนี้ ได้มีการพูดคุยถึงแนวนโยบายของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่และทำความเข้าใจกัน 3 ประเด็นเร่งด่วน คือ 1.ขอให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้การจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณมีความต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะแนวทางการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ที่หอการค้าฯ เห็นด้วยที่จะนำเอารูปแบบดังกล่าวมาใช้กับการจัดทำงบประมาณของประเทศ แต่มีข้อกังวลเรื่องกรอบระยะเวลาการจัดทำงบประมาณว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันทีหรือไม่ เพราะรูปแบบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทำงานของภาครัฐในทุกหน่วยงานและใช้ระยะเวลามาก จึงฝากให้มีการจัดเตรียมแผนต่าง ๆ ให้รอบคอบ เพื่อให้การใช้งบประมาณของประเทศในการขับเคลื่อนมิติต่าง ๆ มีความต่อเนื่อง
2. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วย Ease of Doing Business และ Ease of Investment โดยปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง regulatory guillotine ที่ภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ เพียงการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความทันสมัยและสะดวกขึ้น จะช่วยดึงดูดการลงทุนได้อย่างมหาศาล
นอกจากนี้ยังได้หารือในประเด็นนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคก้าวไกลได้เสนอเป็นนโยบายหลักไว้ 450 บาท/วัน หอการค้าฯ เห็นด้วยที่จะมีการขึ้นค่าแรงอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ และควรเพิ่ม Productivity ของแรงงานควบคู่ไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่ควรมีการตัดสินใจอย่างรอบด้านร่วมกันก่อน ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในฐานะนายจ้าง และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์บนพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีกลไกคณะกรรมการไตรภาคีฯ แต่ละจังหวัดในการพิจารณาและเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ หากมีการขึ้นค่าแรงอย่างทันทีจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวและยังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจอีกหลายด้าน หากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น บางส่วนอาจจะรับไม่ไหว ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการชะลอการจ้างงาน ปรับลดจำนวนพนักงาน หรือแม้แต่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก อาจพิจารณาย้ายฐานการผลิต รวมถึงนักลงทุนใหม่ที่หวังจะเข้ามา คงมีการปรับแผนลงทุนไปประเทศอื่นแทน
รวมทั้งส่วนนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง หากไม่สร้างความชัดเจน ดังนั้น การจะปรับขึ้นค่าแรงจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันหลายส่วน และหวังว่าจะมีการทบทวนเพื่อให้เกิดรูปแบบที่ทุกภาคส่วนยอมรับได้
อย่างไรก็ตามเห็นด้วยกับแนวทางการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่กระทบค่าครองชีพประชาชน และต้นทุนผู้ประกอบการทั่วประเทศ
3. เสริมสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการ และ SMEs หอการค้าฯ ได้เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณานโยบายที่ช่วยเอื้อและสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan ได้ง่ายขึ้น ทั้งการปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง มาตรการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เพราะ SMEs ถือเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ และยังเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดที่รัฐต้องเข้ามาสร้างความเข้มแข็ง
“ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาคเอกชนไทยมีความเข้มแข็งและปรับตัวอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะเจอกับหลายวิกฤตทางเศรษฐกิจ วันนี้สิ่งที่เราพูดคุยกับพรรคก้าวไกล เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนและผู้ประกอบการอยากเห็นภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก บนเวทีการแข่งขันหน้าที่ของเอกชนก็พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ การพูดคุยในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่รัฐและเอกชนจะได้ปรึกษาหาทางออกร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนและเติบโตได้อย่างยั่งยืน นายสนั่นกล่าว
ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเข้าร่วมหารือกับหอการค้าฯ ในวันนี้ว่าตนมี 3 วาระหลัก ในการมานำเสนอและหารือกับหอการค้าฯ คือ 1. ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้แนวทาง 23 ข้อหลักใน MOU ของพรรคร่วม และการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลชุดใหม่ของคณะทำงาน 7 ด้าน ซึ่งจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของนโยบายต่าง ๆ ของพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพราะทั้งงบประมาณและเวลามีจำกัด
2. มุมมองเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ มองว่าเป้าหมายเศรษฐกิจประเทศไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและไม่มีความเหลื่อมล้ำ ในระยะสั้นเศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตช้า ดังนั้นจะต้องหาทางให้ประเทศไทยสามารถเติบโตต่อไปได้โดยไม่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากจนเกินไป รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ Power electronics จาก Silicon Carbide และเรื่องการพัฒนาด้านดิจิทัล เป็นต้น
3. นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างเป็นธรรม ผ่านโครงสร้างพื้นฐานให้เข้มแข็งโดยการทำ Ease of Doing Business และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งการยกเครื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ การจัดสรรและใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพและกระจายอำนาจท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งนโยบายทั้งหมดจะต้องหา Scenario ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะเรื่องการปรับแก้กฎหมายที่ล้าสมัย