อีคอมเมิร์ซไทย 6 แสนล้าน ลุ้นสองรายใหญ่ผูกขาดตลาด หลัง ‘เจดีเซ็นทรัล’ ถอดใจไม่ไปต่อ

อีคอมเมิร์ซไทย 6 แสนล้าน ลุ้นสองรายใหญ่ผูกขาดตลาด หลัง ‘เจดีเซ็นทรัล’ ถอดใจไม่ไปต่อ
จากการประกาศยุติแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ ‘JD CENTRAL’ อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 มี.ค.66 นี้ อาจเป็นไปได้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมูลค่ากว่า 6 แสนล้าน จะเหลือแค่สองรายใหญ่และผูกขาดตลาด

กรณีบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 โดยใจความสรุปว่า JD CENTRAL มีความจำเป็นต้องยุติการให้บริการในประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

 

นับเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติที่ขอโบกมือบ๊าย บาย จากตลาดประเทศไทย เป็นรายล่าสุด

 

สำหรับแพลตฟอร์ม ‘JD CENTRAL’ ได้เข้ามาให้บริการขาช้อปออนไลน์ชาวไทย กว่า5 ปีที่ผ่านมา (กันยายน พ.ศ. 2560) จากการร่วมทุนระหว่างแบรนด์ค้าปลีกออนไลน์อันดับสอง JD.com,Inc. ประเทศจีน และเบอร์หนึ่งธุรกิจค้าปลีกในไทย บริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด (ธุรกิจของสมาชิกครอบครัวจิราธิวัฒน์ 77 ราย)​ ได้ทำสัญญาและร่วมลงทุนก่อตั้ง JD Central เท่ากันในสัดส่วน 50:50 ด้วยเงินลงทุนร่วม 17,500 ล้านบาท

 

โดยในช่วงเปิดให้บริการ JD CENTRAL วางตำแหน่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายทั้งของกินของใช้  ด้วยจุดเด่นการันตีแบรนด์แท้ 100% พร้อมระบบจัดการสินค้า และการจัดส่งระดับโลก

 

แต่ หากย้อนดูผลประกอบการของ JD CENTRAL ในช่วงปี 2561- 2564 จะพบว่าผลประกอบการธุรกิจติดลบ อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

 

ปี 2561 มีรายได้  458.4 ล้านบาท กำไร -944.1 ล้านบาท,  ปี2562  มีรายได้ 1,284.8 ล้านบาท กำไร -1,342.6    ล้านบาท ปี2563  มีรายได้ 3,491.7 ล้านบาท กำไร -1,375.5 ล้านบาท ปี2564  มีรายได้ 7,443.4 ล้านบาท          กำไร -1,930.4 ล้านบาท

 

จากเลขตัวแดงติดลบมาโดยตลอดของ JD CENTRAL อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทุนสองสัญชาติจีน-ไทย ถอดใจไม่ไปต่อในสนามการค้าออนไลน์ ที่มีการแข่งขันรุนแรง ซี่งในช่วงปี2565 ที่ผ่านมา ‘เซ็นทรัล’ เองได้ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้ว่าจะลดบทบาทใน JD CENTRAL เพื่อให้จีนเข้ามา หลังพบว่าในช่วง5 ปีที่ผ่านมา ขาดทุนร่วม 5.6 พันล้านบาท   

 

เลขตัวแดงไม่ไหว เลยไม่ไปต่อ

 

ต่อเรื่องนี้ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด อดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ในฐานะเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ กล่าวในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ตัวเลขขาดทุนของ JD CENTRAL ปีละพันกว่าล้านบาท หากเปรียบเทียบกับอีกสองรายใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยถือว่ายังน้อย

 

อย่างแอปลาซาด้า ขาดทุนปีละ 3-4 พันล้านบาทในปี2564 ขาดทุนเกือบ5 พันล้านบาท ส่วนช้อปปี้เข้ามาทำตลาดร่วม 7 ปีก็ประสบภาวะขาดทุนสะสมไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ช้อปปี้ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจหลายด้าน เพื่อลดต้นทุน ซึ่งดำเนินการได้คล่องตัวกว่าด้วยเจ้าของธุรกิจมีรายเดียว

 

ขณะที่ JD CENTRAL ประกอบด้วยสองกลุ่มใหญ่ คือ JD.com,Inc. และ เซ็นทรัล ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี 4 เดือนที่ดำเนินการ เจดี เซ็นทรัลเจอกับภาวะขาดทุนสะสมมาโดยตลอด ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เซ็นทรัลถอดใจ ด้วยมีความคุ้นชินต่อการทำธุรกิจเพื่อให้มีกำไรมากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากตลาดในไทยแล้วยังรวมไปถึง ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศอินโดนีเซีย ที่ JD.com จะไม่ไปต่ออีกด้วยเช่นกัน  ด้วยจะหันไปมุ่งธุรกิจโลจิดสติกส์และซัพพลายเชน แทน ตามรายงานข่าวของ บลูมเบิร์ก  

 

เหลือ2 แพลตฟอร์มต่างชาติรายใหญ่ คุมตลาด

 

ภาวุธ กล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่ JD.com เตรียมโบกมือลาจากไทย แต่ก่อนหน้านี้ในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยก็เคยมีอีก 2แพลตฟอร์มที่ออกไปจากตลาดแล้วเช่นกัน  อย่างแบรนด์ราคูเท็น (Rakuten) ประเทศญี่ปุ่น ที่ตัวเขาเองเคยร่วมทำธุรกิจนี้ และแบรนด์ อีเลฟเว่น สตรีท (11street) สัญชาติเกาหลี ที่เข้ามาอยู่ในตลาดช่วงจังหวะไล่เรียงกัน และได้ถอยทัพออกไปทั้งคู่

 

จนถึงในตอนนี้ เหลือ 2แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติในไทย คือ ลาซาด้า และ ช้อปปี้  ที่ยังสามารถประคองธุรกิจได้ด้วยยังมีทุนหนาและมีเจ้าของรายเดียว ด้วยกลยุทธ์การลงทุนธุรกิจหลายประเทศพร้อมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนช้อปปี้ รวมไต้หวันเข้าไปอีกหนึ่งประเทศ   

 

ภาวุธ เสริมว่า“อีคอมเมิร์ซในไทยจากนี้ไปอาจค่อนข้างน่าเป็นห่วง ด้วยเหลือสองแพลตฟอร์มในตลาดที่คนทั้งประเทศใช้อยู่ โดยในตอนนี้ทั้งสองเจ้าสองต่างเริ่มพยายามทำกำไร ด้วยการปรับโครงสร้งราคามากขึ้น ซึ่งจะกระทบกับเจ้าของสินค้าก่อนเป็นกลุ่มแรก และจากการที่มีผู้เล่นน้อยลงเหลือราย สิ่งที่น่ากังวลตามมาอีก คือ ภาพรวมการแข่งขันที่ถูกจำกัดเหลือสองราย ซึ่งภาครัฐควรเร่งเข้ามากำกับดูแล

 

อีคอมเมิร์ซ ปี2566 แตะ 6.18 แสนล้านบาท

 

ขณะที่ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซธุรกิจต่อลูกค้า (B2C E-Commerce) ปี 2565-2566 จะเติบโตชะลอลง หลังจากที่เร่งตัวสูงด้วยอัตราเลขสองหลักในช่วงโควิด-19

 

โดยในปี 2566 คาดว่าตลาดอาจขยายตัวราว 4-6% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 606,000 – 618,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเฉลี่ย 26% ต่อปี

 

โดยจำนวนผู้ใช้บริการ E-Commerce รายใหม่ น่าจะเริ่มอิ่มตัวหลังจากที่เข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงโควิด-19 รวมถึงค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นยังคงกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้มีการใช้จ่ายอย่างจำกัด

 

สำหรับสินค้าที่คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบนช่องทางอีคอมเมิร์ซ ได้แก่ กลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างพวกอาหารสด อาหารแห้งและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในยุค New normal

 

ขณะที่ กลุ่มสินค้าแฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม การใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์อาจจะไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นเร็ว เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นรองลงมาในภาวะที่กำลังซื้อผู้บริโภคมีจำกัดและต้องเลือกใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

 

The Better พาไปรู้จัก 'หลิว เฉียงตง' เจ้าพ่อ JD.com ฉายาเจฟฟ์ เบโซสเมืองจีน 

 

 

TAGS: #JDCENTRAL #เจดีเซ็นทรัล #อีคอมเมิร์ซ