กกร.ห่วงเศรษฐกิจโลกชะลอทุบส่งออก วอนเร่งตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว

กกร.ห่วงเศรษฐกิจโลกชะลอทุบส่งออก วอนเร่งตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว
กกร.ยังคงเป้าจีดีพีไว้ 3-3.5% กังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโตต่ำกว่าคาด จี้นายกฯเร่งรับมือภัยแล้งหวั่นกระทบภาคเกษตร-อุตสาหกรรม ทำเสียหาย 3.6 หมื่นล้านบาท

นายผยง  ศรีวณิช  ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย  ว่า กกร.ยังคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศปี 2566 ขยายตัว 3-3.5 %  การส่งออก ติดลบ 1 ถึง 0% และเงินเฟ้อ 2.7- 3.2%  

ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดไว้ เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังการเปิดประเทศ โดยการฟื้นตัวในภาคบริการมีสัญญาณแผ่วลง ขณะที่ภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัว ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปเผชิญแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ล่าช้ากว่าที่คาด ทำให้เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จนกว่าประเทศใหญ่อย่างเช่นประเทศจีนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา

 

ทางกกร.คาดหวังให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จโดยเร็วเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพราะหากล่าช้าก็จะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 เดือนแรกเข้ามาสูงกว่า 8 ล้านคน และทั้งปีมีศักยภาพที่จะมากถึง 30 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการจ้างงาน

นอกจากนี้ รายได้ในภาคเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมยังขยายตัว ทำให้ในภาพรวมผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นและมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าการส่งออกในปี 2566 จะหดตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่เงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยท้าทาย ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2%  และมีแนวโน้มว่าจะยังปรับขึ้นต่อไปด้วยเหตุว่าเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง โดยเศรษฐกิจไทยยังอาจได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรและราคาสินค้าในระยะข้างหน้า รวมถึงหากมีการปรับขึ้นค่าแรงในอนาคต

นายผยง กล่าวว่า กกร.มีความกังวล เรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งติดลบติดต่อกัน 7 เดือน ทำให้คำสั่งซื้อลดลง แต่ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องมีการรักษาการผลิต เพื่อพยุงการจ้างแรงงานให้ไม่ได้รับผลกระทบ หากการส่งออกยังไม่มีการฟื้นตัว อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมี 19 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในหมวดอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นสัดส่วนค่าครองชีพของผู้บริโภคที่สูงขึ้นกว่าในอดีต และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยกดดันที่อาจทำให้เงินเฟ้อสูงต่อเนื่องจากการส่งผ่านราคาของผู้ประกอบการจากภาระต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง โดยมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ได้แก่ แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 0.82% ถ้าไม่มีการเพิ่มทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงานให้เหมาะสมไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยน

รวมถึงมีปัจจัยด้านราคาน้ำมันดีเซลที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท สิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค. 66 ซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการ ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันต้นทุนของทั้งผู้ประกอบการและครัวเรือน

สำหรับในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง เป็นเรื่องที่มีผลกระทบในระดับสูงในภาวะที่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหา เอลนีโญในปีนี้ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ 36,000 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่  31 พ.ค. ทางกกร.ได้มีการทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี เสนอให้เร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง ทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว ซึ่ง มองว่าปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ ภาครัฐควรบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

 

 

TAGS: #กกร. #ส่งออก #เศรษฐกิจโลก #ภัยแล้ง #ขึ้นค่าแรง