ดัชนีเชื่อมั่นฯทำสถิติสูงสุดรอบ 39 เดือน คนไทยเริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น

ดัชนีเชื่อมั่นฯทำสถิติสูงสุดรอบ 39 เดือน คนไทยเริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น
ดัชนีเชื่อมั่นฯเดือนพ.คปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 12 หลังท่องเที่ยวฟื้น-เม็ดเงินเลือกตั้งหมุนเวียน สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ยังกังวลเสถียรภาพการเมืองขาดความชัดเจน ต้องลุ้นใครนั่งนายกฯ

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยถึง ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพ.ค. 2566 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน

 

ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในการตั้งรัฐบาลโดยเฉพาะใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี  รวมถึงประเด็นการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ สว.จะยกมือโหวตให้นายพิธา หรือไม่ ประเด็นเหล่านี้มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคจนถึงสิ้นปี

ขณะที่ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้ารวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.2 52.8 และ 64.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเมษายน ที่อยู่ในระดับ 49.4 52.0 และ 63.6 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจโลกและสถาบันการเงินของโลกที่มีความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงยังคงกังวลในสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

 

“ แม้ดัชนีความเชื่อมั่นฯจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน แต่ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤต โควิด-19 อัตราเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐที่ไม่มั่นคงเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้"

รศ.ดร.ธนวรรธน์  กล่าวว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคตอนนี้อยู่ในบรรยากาศลังเล รอดูว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรมากกว่า ทำให้เกิดความระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะความไม่นิ่งของสถานกาณ์การเมือง  สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติมองคือเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร จะมีนโยบายอะไรออกมาบ้าง  และเป็นมิตรกับการลงทุนทุกชาติหรือไม่  โดยยังไม่มีสัญญาณถอนการลงทุน หรือไม่มีความเชื่อมั่น เพียงแต่ Wait and See  ความชัดเจนของรัฐบาลใหม่มากกว่า

TAGS: #ดัชนีความเชื่อมั่น #การเมือง #รัฐบาลใหม่ #พรรคก้าวไกล