พลังงานเตรียมขอความเห็นกฤษฎีกาต่ออายุตรึงราคาก๊าซฯช่วงรัฐบาลรักษาการคาดใช้กองทุนน้ำมันฯอุ้มต่อ หลังฐานะดีขึ้นติดลบเหลือ 6 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานทำหน้าที่ประธานแทนรมว.พลังงาน จะนัดประชุมสัปดาห์หน้าเพื่อหารือมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจี(LPG) ซึ่งจะครบกำหนดการตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถัง(ขนาด15 กก.) วันที่ 30 มิ.ย.นี้ จะมีการดำเนินการมาตรการอย่างไรต่อไปในช่วงรัฐบาลรักษาการ
ทั้งนี้เบื้องต้นไม่สามารถใช้มติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรมว.พลังงาน เป็นประธานในการพิจารณาเรื่องนี้ ดังนั้นทางกบน.จะทำหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวไปก่อน โดยคาดว่าจะขอความเห็นจากที่ประชุมเพื่อนำเรื่องการต่ออายุมาตรการตรึงราคาแอลพีจี หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าทำได้หรือไม่ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 4 มิ.ย. มีหนี้สะสมรวม 66,276 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีแอลพีจี 46,376 ล้านบาท และบัญชีน้ำมัน 19,900 ล้านบาท ถือว่าบริหารได้ดีขึ้นตามลำดับ จากเดิมที่มีภารหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะหนี้จากการชดเชยราคาดีเซล ขณะนี้เหลือไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้ จะเริ่มมีสถานะเป็นบวกได้แน่นอน ขณะที่หนี้จากการตรึงราคาแอลพีจียังมีอยู่ระดับสูง เนื่องจากมีรายได้จากการจัดเก็บเงินเข้าเพียงเดือนละ 20 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตามหากทางคณะกรรมการกฤษฎีกาให้อำนาจกบน.ในการพิจารณาต่ออายุมาตรการตรึงราคาแอลพีจี ก็สามารถดำเนินการได้ โดยอาจต้องใช้เงินอุดหนุนราคาจากบัญชีน้ำมันมาดูแลไปก่อน ซึ่งที่ผ่านมาจะใช้วิธีการกำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นที่ 20.9179 บาทต่อกก. (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือ 423 บาทต่อถัง 15 กก.
สำหรับการดูแลราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์( NGV) จะสิ้นสุดมาตการวนที่ 15 มิ.ย. นี้ นั้น อาจต้องมอบหมายให้ทางบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาช่วยดูแลในการราคาขายปลีกไว้ก่อน ซึ่งเดิมกำหนดให้รถยนต์ทั่วไป คงราคาขายปลีก 17.59 บาท/กิโลกรัม และรถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกันของ ปตท. ให้คงราคาขายปลีก 13.62 บาท/กิโลกรัม