พลังงานหนุนเอกชนลงทุนผลิตน้ำมันเครื่องบินชีวภาพ ก่อนบังคับใช้ 1% ในเครื่องบิน ปี’70 เข้าสู่โหมดพลังงานสะอาด
นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ Sustainable Aviation Fuel (SAF) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคตและรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดตามทิศทางของโลก ซึ่งคาดจะสรุปได้ใน 2 เดือน
ทั้งนี้เบื้องต้นมีผู้ผลิต 2-3 รายในประเทศที่เป็นกลุ่มโรงกลั่นให้ความสนใจที่จะผลิต SAF โดยใช้วัตถุดิบหลักคือ น้ำมันที่ใช้แล้ว กับเอทานอลจากโมลาสหรือกากน้ำตาล สิ่งสำคัญที่ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม ฯลฯ คือการกำหนดทิศทางปริมาณวัตถุดิบที่จะนำมาใช้และการสนับสนุนด้านภาษีจะมีอะไรบ้าง
นอกจากนี้จะต้องกำหนดสัดส่วนการบังคับใช้ SAF มีส่วนผสมกับน้ำมัน 1% ในปี 2570 ดังนั้นในระยะ 4-5 ปีจึงต้องเตรียมตัวในเรื่องความพร้อมของน้ำมัน SAF ที่จะเกี่ยวกับปริมาณวัตถุดิบ ภาษีต่างๆ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนฯในการสนับสนุน เป็นต้น
ด้านม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) กล่าวว่า BAFS ได้ร่มกับกลุ่มบางจาก และกลุ่มมิตรผล ในการพัฒนาผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพ สร้างหน่วยผลิตน้ำมันยั่งยืนจากน้ำมันที่ใช้แล้ว หรือจากส่วนเกินเหลือใช้ในกระบวนการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบิน
สำหรับผลประกอบการของBAFS ในปีนี้มั่นใจว่าจะกลับมาเป็นบวก เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,410 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 281 ล้านบาท มาจากปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานปีนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามเป้าเป็น 4,200 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 2,990 ล้านลิตร รับอานิสงส์บวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีจำนวนเที่ยวบินโดยเฉพาะจากจีนเข้ามากขึ้น จากเดิม 100-125 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 400-500 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ด้านความคืบหน้าโครงข่ายระบบท่อส่งน้ำมัน ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ซึ่งปัจจุบันได้ขยายการให้บริการสู่ภาคเหนือ ขณะนี้มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 20% หรือคิดเป็นประมาณ 410 ล้านลิตร เท่านั้น ถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับความสามารถของท่อทั้งสิ้น 2,450 ล้านลิตรซึ่งคาดว่าปีนี้จะเพิ่มได้ 609-806 ล้านลิตรภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ยังมีแผนเชื่อมระบบท่อส่งน้ำมันระหว่างภาคตะวันออก กับคลังน้ำมันของบางจากฯ ที่บางปะอิน เนื่องจากภาคตะวันออกมีโรงกลั่นน้ำมันค่อนข้างมาก ในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเชื่อมต่อระบบท่อส่งน้ำมันของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) จากสระบุรีไปอ่างทอง ระยะทาง 52 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนการลงทุนภายใน 2 เดือนข้างหน้า