กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเดินหน้าสร้างความมั่นคงทางพลังงาน มั่นใจแหล่งปิโตรเลียมแห่งใหม่ 3 แปลงช่วยคนไทยประหยัดค่าไฟฟ้า รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า แหล่งผลิตปิโตรเลียมของไทยจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติไปได้อีกกี่ปี? เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยหลายแหล่งได้มีการดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติมาแล้วเป็นเวลากว่า 30 ปี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการรายงานปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศ ณ สิ้นปี 2564 ว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (Proved) คงเหลือประมาณ 3,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต และเมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยพบว่าจะสามารถใช้ต่อไปได้อีกเพียงแค่ 3 ปี แต่ในส่วนของปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะพบ (Probable) คงเหลือประมาณ 4,500 ล้านลูกบาศ์ฟุต เมื่อรวมปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน จะทำให้ระเทศไทยของเราจะสามารถที่จะผลิตและใช้ก๊าซธรรมชาติต่อไปได้อีก 7 ปี
หากเรายังคงมีอัตราผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณดังกล่าวไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่มีการดำเนินการสำรวจหรือผลิตเพิ่มเติมเลย ประเทศไทยอาจจะมีก๊าซธรรมชาติที่ผลิตขึ้นเองเพียงพอสำหรับการนำไปใช้ได้อีกไม่กี่ปีเท่านั้น ขณะที่การเปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งใหม่ของประเทศไทย ก็ทิ้งช่วงเวลามานานกว่า 16 ปี
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีภารกิจสำคัญที่ต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จึงได้เปิดประมูลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และได้พิจารณาคำขอสิทธิสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 24 โดยยึดหลักความโปร่งใสและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ รวมทั้งพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ และได้นำเสนอต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24
และเมื่อวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ได้จัดพิธีลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 จำนวน 3 แปลง โดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 20,133.87 ตารางกิโลเมตร และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร
การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนการต่อลมหายใจให้แหล่งพลังงานของประเทศ ช่วยให้ประชาชนคนไทยไม่ต้องควักเงินในกระเป๋ามาจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น หากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า และการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจภาคขนส่งรวมถึงธุรกิจร้านอาหาร โรงแรมอีกด้วย