ความสำเร็จ “ออมสินธนาคารเพื่อสังคม”

ความสำเร็จ “ออมสินธนาคารเพื่อสังคม”
ความเอาจริงเอาจังอย่างมุ่งมั่นและแน่วแน่ ทำให้วันนี้ธนาคารออมสินประกาศได้อย่างภาคภูมิใจว่า “ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคม”

นับตั้งแต่วันที่ วิทัย รัตนากร เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เมื่อ 2 ปีเศษที่ผ่านมา ได้ประกาศวิสัยทัศน์สั้นๆ ชัดเจนว่า “จะเดินหน้าให้ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคม หรือ Social Bank เต็มตัวเต็มรูปแบบ”

วิทัย บอกแนวทางวิธีการ จะทำให้ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคมได้นั้น ธุรกิจหลักของธนาคารออมสินที่ทำอยู่ปัจจุบัน ต้องทำให้เข้มแข็งเสียก่อน เพื่อจะได้มีรายได้มีกำไร นำไปทำกิจกรรมหรือธุรกิจต่างๆ ที่เสริมเพิ่มเติมเข้ามาให้ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคม ช่วยคนรายได้น้อยและลดความเหลือล้ำของคนในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดผลในวงกว้างมากที่สุด

“ธนาคารออมสินได้ปรับยุทธศาสตร์เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” เมื่อปี 2563 โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนฐานรากด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และ ยึดหลักนำกำไรจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม” วิทัย กล่าว

แน่นอนว่า ผลงานการทำให้ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารเพื่อสังคมในรอบ 2 ปีเศษที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ทำได้จริงช่วยได้จริงตามที่ประกาศยุทธศาสตร์ไว้ โดยธนาคารออมสินได้ช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจ ผ่านมาตรการและโครงการต่าง ๆ กว่า 45 โครงการ มีประชาชนได้รับประโยชน์และความช่วยเหลือแล้วจำนวนกว่า 13 ล้านราย โดยเป็นผู้ที่ได้รับสินเชื่อ 5.7 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตและเป็นการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เป็นครั้งแรกมากถึง 2.76 ล้านราย

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 195,000 ล้านบาท รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ให้สามารถกลับมามีอาชีพ และสร้างรายได้ กว่า 100,000 ราย นอกจากนี้ ได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายโดยการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ NPLs อีกร่วม 4 ล้านราย

เมื่อดูลึกลงไปสำหรับมาตรการโครงการใหม่ที่ธนาคารออมสินออกมา เพื่อตอกย้ำการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ได้แก่ ร่วมลงทุนกับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เพื่อทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงช่วยกดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ให้ลดต่ำลง จาก 28% ลงเหลือ 16 – 18% โดยอนุมัติสินเชื่อให้คนฐานรากแล้วกว่า 1 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งบริษัทร่วมทุน “มีที่มีเงิน จำกัด” เพื่อทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก โดยมีธนาคารออมสินถือหุ้นในสัดส่วน 49% บริษัท ทิพย ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 31% และ บริษัทบางจาก จำกัด (มหาชน) 20% ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว ทำให้คนที่มีที่ดิน สมารถนำมากู้เงินจากบริษัทมีที่มีเงิน ในต้นทุนที่ต่ำเป็นธรรม ไปใช้ประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยัง เริ่มทดลองนำร่องโครงการ อนุมัติสินเชื่อ Digital Lending โดยใช้ Alternative Data เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกโครงการที่จะทำให้คนฐานรากรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในต้นทุนที่ถูก หลุดจากการเป็นหนี้นอกระบบ หรือไปกู้ในระบบที่สูงกว่า

วิทัย ระบุว่า การตั้งบริษัทเงินสดทันใจ, บริษัทมีที่มีเงิน และโครงการ Digital Lending ซึ่งอยู่ระหว่างหารูปการตั้งบริษัทซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งหมดจะเป็นเรือธงสำคัญในการขับเคลื่อนธนาคารออมสินให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม เพราะมาตรการทั้งหมดเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยตรง คือ มาจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ขอสินเชื่อที่ดินและขายฝาก และขอกู้สินเชื่อบุคคลผ่านออนไลน์ จะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าตลาด

ขณะเดียวกัน มาตรการที่ออกมายังช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารออมสินโดยตรง เพราะบริษัทเช่าซื้อ หรือ บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล ต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาลูกค้าไม่ให้โยกมาที่บริษัทร่วมทุนของธนาคารออมสินที่ตั้งขึ้น ซึ่งทำให้ประชาชน ผู้มีรายได้น้อย ทั้งที่เป็นหรือไม่เป็นธนาคารออมสิน ได้ประโยชน์การลดความเหลื่อมล้ำ การลดต้นทุนเงินกู้ การเข้าถึงแหล่งเงินกู้เงินทุนได้มากขึ้น จากการขับเคลื่อน “ธนาคารออมสินให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม”

TAGS: #ธนาคารออมสิน #ธนาคารเพื่อสังคม #Social Bank #วิทัย รัตนากร #ลดความเหลื่อมล้ำ #ผู้มีรายได้น้อย