‘คอนเทนต์’ไทย เบอร์1 ผลโหวตเทียบชั้นเกาหลี ในเวที Asian Video Summit 2023 ด้าน กสทช. อาสาเป็นตัวกลางหารือแนวทางพัฒนาให้แข่งขันนานาชาติได้
จากการจัดงาน Asia Video Summit 2023 โดยสมาคมอุตสาหกรรมวีดิโอเอเชีย (Asia Video Industry Association: AVIA) ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม Kerry Hotel โดยมีผู้แทนจากอุตสาหกรรมโทรทัศน์ วีดิโอ ตลอดจนกิจการที่เกี่ยวข้อง เช่น เกมและการโฆษณา เข้าร่วมจำนวน 180 คน
โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น เบื้องหลังความสำเร็จของคลื่นความนิยมเกาหลี อนาคตของสื่อบันเทิงจีน การหารายได้สำหรับสื่อโสตทัศน์และบทบาทของ AI ในอุตสาหกรรมสื่อ เป็นต้น
งานฯดังกล่าว ยังเป็นการรวมของผู้ประกอบการ นักวิชาชีพในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวีดิทัศน์ ตลอดจนองค์กรภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแลในภูมิภาคเอเชียและระดับโลก ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
โดยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นี้ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมกว่า 180 คนจาก 22 ประเทศ ในประเด็นว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศใดมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมเนื้อหาในภูมิภาค เฉกเช่นกับความสำเร็จของเกาหลี
ผลออกมาว่า ร้อยละ 40 ของผู้ร่วมโหวตตอบว่าประเทศไทย ในขณะที่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยคะแนนร้อยละ 16 และอินโดนีเซียไดรับเลือกเป็นอันดับที่ 3 มีคะแนนร้อยละ 13 ส่วนตลาดอื่นๆ คือฮ่องกงและฟิลิปปินส์ได้คะแนนร้อยละ 7 เท่ากัน ในขณะที่ไต้หวันได้คะแนนร้อยละ 6
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวเสวนาในหัวข้อ ในหัวข้อ Thailand's Time ในงานฯ ดังกล่าว ว่า เนื้อหาสื่อวีดิทัศน์ของไทยมีศักยภาพสูงมากเห็นได้จากการเปิดรับอย่างกว้างขวางของตลาดต่างๆในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก
ตลอดจนรางวัลที่ได้รับจากเวทีระดับสากล แต่ยังขาดการส่งเสริมอย่างมียุทธศาสตร์ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจาก โครงสร้างของกลไกในภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่มีหลายส่วนและต่างคนต่างทำ โดยไม่ประสานให้มีทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน (inter-agency problem)
ทั้งนี้ จึงจำเป็นจะต้องมีการพูดคุยเพื่อแสวงหาแนวทางที่สอดคล้องกันและจัดการให้มีการจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่ง กสทช.พร้อมที่จะเป็นตัวกลางให้เกิดการหารือดังกล่าว
“ผู้ที่อยู่ในวงการวีดิทัศน์นอกประเทศต่างก็ชื่นชมและมองว่าเราจะเป็นเหมือนเกาหลีในแง่ของการพัฒนาเนื้อหาสู่สากล แต่เราต้องลงทุนและวางแนวทางที่ชัดเจนอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนผู้เล่นจากประเทศเราให้แข่งขันได้” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว
นอกจากนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมระบบนิเวศด้านสื่อที่เอื้อต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมทั้งสำหรับผู้ประกอบการในประเทศและผู้ให้บริการจากต่างประเทศ
ขณะที่ การกำกับดูแลแบบ light touch หรือการกำกับดูแลแบบที่ไม่ไปควบคุมมากเกินไปเพื่อเปิดพื้นที่ให้ความสร้างสรรค์และนวัตกรรมด้านเนื้อหาจากผู้เล่นในภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งจำเป็น โดยอาจเป็นการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง ให้ผู้ประกอบกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมกำหนดกฎกติการ่วมกัน เป็นมาตรฐานกลางของชุมชนผู้ประกอบการ และกสทช.และองค์กรภาครัฐจะเป็นผู้ส่งเสริมในเชิงทรัพยากรที่จำเป็น"
ด้านพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้าน Strategic Content & Public Affairs บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งร่วมการเสวนาในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า เนื้อหาไทยมีความดึงดูดหลายประการที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมไทยที่มีความลุ่มลึกในเชิงประวัติศาสตร์และเรื่องราว ความสวยงามของภูมิประเทศ ผู้แสดงที่มีรูปลักษณ์ตรงกับมาตรฐานความงามที่เป็นสากล อีกทั้งยังแสดงเก่ง ตลอดจน ความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้าง และทักษะการผลิตที่ไม่เป็นรองใครในระดับภูมิภาค เราจึงมีองค์ประกอบที่พร้อมที่จะก้าวต่อไปในระดับสากล