ราคาที่ดินเขตคลองเตย หลังกรมธนารักษ์ประกาศใช้ราคาที่ดินใหม่รอบปี 2566-2569 ที่เพิ่มขึ้นราว25% เทียบในช่วงปี 2559-2562
ด้วยราคาที่ดินที่มีมูลค่าจากการทยอยปรับมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่ดินทำเลนี้กลายเป็นย่านธุรกิจการค้าใหม่ และน่าสนใจกว่าการลงทุนแค่ธุรกิจการศึกษา หรือ ไม่?
กระแสข่าวสะพัดในสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ข้อความ “ปิดตำนาน “ความรู้ คู่ความดี” มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท”
นัยยะดังกล่าวนำไปสู่การคาดการณ์ว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท เตรียมปิดกิจการ พร้อมโอนงานด้านการศึกษาทั้งหมดไปยัง วิทยาเขตรังสิต ตามแนวทางที่ เพชร โอสถานุเคราะห์ ผู้บริหาร และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อไว้ก่อนหน้านี้
โดยประเด็นดังกล่าว ยังได้มีการวิเคราะห์ถึงการเตรียมปิดมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไทในครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าผู้บริหารจะยุติการใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อกิจการด้านการศึกษา โดยจะนำที่ดินผืนนี้ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวนี้ มีอันต้องพับไปก่อน หลังจาก อาจารย์ปรางแก้ว ทองดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชี้แจงว่า ข่าว "ปิดตำนาน ม.กรุงเทพกล้วยน้ำไท" นั้น โดยโพสท์ดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิด ไม่มีมูลความจริง
โดยพื้นที่ดังกล่าว ทางผู้บริหารมหาลัยกรุงเทพยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อวางแผนการพัฒนาพื้นให้เหมะสมกับการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และ นวัตกรรม หากชัดเจนแล้วทางมหาวิทยาลัยจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ขณะที่แหล่งข่าวอีกด้าน ระบุว่า แนวโน้มการพัฒนาที่ดินมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในรูปแบบอื่นยังมีความเป็นไปได้ ด้วยในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับความต้องการเรียนในระดับอุดมศึกษามีจำนวนลดลง
รวมถึงการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ในหลักสูตรต่างๆ ที่เข้าถึงกลุ่มผู้เรียนคนรุ่นใหม่ ได้สะดวกมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้อาคาร สถานที่ สำหรับการเรียนการสอนที่ไม่มีความจำเป็นมากนัก
แต่ทั้งนี้ต้องรอดูว่า เจ้าของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะนำที่ดินวิทยาเขตกล้วยน้ำไทไปใช้ประโยชน์ในด้านใด ต่อไป
สำหรับที่ดินบริเวณมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นของ ตระกูลโอสถานุเคราะห์ มีพื้นที่ราว 27 ไร่ ซึ่งก่อนหน้าเคยประกาศแปลงโฉมที่ดินผืนนี้ไปสู่การพัฒนาธุรกิจอื่นๆ ให้ต่อยอดสู่รายได้ได้ แต่อาจยังให้ความสำคัญกับธุรกิจการศึกษาอยู่
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาราคาที่ดินหลัง กรมธนารักษ์ประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566-2569 ในวันที่ 1 มกราคม 2566 หลังเลื่อนใช้รอบใหม่มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อลดภาระประชาชนผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และสถานการณ์โควิด-19 โดยภาพรวมทั้งประเทศราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นเฉลี่ย 8%
หากสโคปเข้าไปยังราคาประเมินที่ดินเขตพระโขนง, วัฒนา, คลองเตย, บางนา บริเวณถนนพระราม 4 จะพบว่ามีราคาหน่วยที่ดินเริ่มต้น 450,000 – 500,000 บาทต่อตารางวา คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นมาราว 25% เมื่อเทียบกับราคาประเมินที่ดินรอบปี 2559-2562 ทำเลถนนพระราม4 อยู่ที่อัตรา 360,000-400,000 บาทต่อตารางวา
จากราคาที่ดินที่ปรับขึ้นต่อเนื่องแบบนี้ ปะกอบกับปัจจัยข้างต้น อาจทำให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินผืนงามบนทำเลย่านธุรกิจการค้าแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ต้องทบทวนอย่างหนักต่อการพัฒนาและลงทุนในธุรกิจ ที่จะให้ผลตอบแทนคุ้มค่าราคาที่ดินให้ได้มากที่สุด
ในยุคที่ไลฟ์สไตล์กละการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนไปสิ้นเชิง