ธปท.รายงานภาวะเศรษฐกิจเดือน พ.ค. 2566 พบว่า อยู่ในทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น
ดร. สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วฟื้นตัวต่อเนื่อง
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อย
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราว อาทิ การจัดกิจกรรมในช่วงเลือกตั้ง การเลื่อนเบิกจ่ายวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาจากเดือนก่อน ประกอบกับมีช่วงวันหยุดยาว ด้านปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยพิเศษที่ทำให้มีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครื่องบิน ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทาน ส่วนรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภค
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วฟื้นตัวจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะยานยนต์ สินค้าเกษตรแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียนปรับลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงมากในเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การผลิตปิโตรเลียมลดลงจากปัจจัยชั่วคราวที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก และเคมีภัณฑ์ และจากสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้าที่เร่งนำเข้าไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด อาทิ การนำเข้าเครื่องบิน และคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ยุโรปที่ไม่รวมรัสเซีย และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวบางสัญชาติปรับลดลงบ้าง อาทิ อินเดีย และมาเลเซีย ซึ่งเร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนทรงตัวจากเดือนก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตาม 1) ค่าไฟฟ้าที่ปรับลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ 2) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และ 3) ผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากผลของฐานสูงในราคาเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ และรายจ่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน