ผ่านครึ่งแรกของปี 2566 ภาคธุรกิจ สินค้าบริการ หลายรายต่างบอกกันเป็นเสียงเดียวว่า ‘หลายอย่างดีขึ้น’ เป็นผลจากสัญญาณบวกการท่องเที่ยวฟื้นตัว
โดยเฉพาะ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศที่ฟื้นกลับมา กล้าใช้จ่ายเพื่อกินและเที่ยว เป็นอันดับต้นๆ
รวมถึงการเปิดประเทศของจีน ที่กระจายพลังแห่งการจับจ่ายเข้ามายังไทยต่อเนื่องจนถึงครึ่งหลังของปี2566 นี้ ที่เจ้าของธุรกิจสินค้าในตลาด ต่างเริ่มให้ความมั่นใจกลับมาลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมธุรกิจรับกำลังซื้อ ในช่วงจังหวะเดียวกับการเข้ามาบริหารประเทศ ของรัฐบาลชุดใหม่ เช่นกัน
ธุรกิจอาหาร มองบวกมาก
ในส่วนของกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารในเครือสหพัฒน์ อย่าง บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตและทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’ และบริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์ ร่วมสะท้อนกำลังซื้อ ด้วยเช่นกัน
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)’ มองกำลังซื้อในครึ่งหลังปี 2566 ว่าพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าของคนไทยจะเปลี่ยนไป ด้วยคนไทยจะยังกล้าใช้เงินอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มีเงินออมก็ตาม
ด้วยในกลุ่มกำลังซื้อที่ยังมีเงินอยู่ ก็จะยังกล้าจับจ่ายสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น ส่วนกลุ่มที่ไม่มีเงินมากนัก จะยังทรงตัว “ด้วยมีไหร่ก็ใช้ ไม่ออมเงิน ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ที่มีการบริหารจัดการเงินเพื่อเก็บออมไม่ใช้ทั้งหมด”
ด้าน อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและทำตลาดสินค้าเบเกอรีแบรนด์ ฟาร์มเฮ้าส์, มาดามมาร์โก้ และ ร้านอาหารญี่ปุ่นซาโบเตน ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารในเครือสหพัฒน์ มองเศรษฐกิจประเทศไทยในครึ่งหลังปี 2566 นี้ว่า กำลังซื้อคนไทยจะยังทรงตัวคงที่
โดยปัจจัยหนุนให้กลุ่มสินค้าขนมอบเบเกอรีเติบโตขึ้น คาดมาจากบรรยากาศการเปิดภาคการศึกษาของโรงเรียน/สถาบันต่างๆ เป็นผลบวกกับความต้องการสินค้าในกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่มองหาอาหารว่างรองท้อง
ขณะที่ ต้นทุนการดำเนินธุรกิจในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน และ วัตถุดิบ จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย ยูเครน ที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้ ที่แม้จะยังไม่สิ้นสุดก็ตามแต่ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มรุนแรง
โดยบริษัทได้มีการปรับตัวรอบด้าน เพื่อลดต้นทุนพลังงาน ทั้งการติดแผงโซลาร์เซลส์ เพื่อใช้พลังานแสงอาทิตย์ ในโรงงานย่านบางชัน เป็นต้น ซึ่งบริษัท มีความกังวลด้านต้นทุนพลังงาน ที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่มาดูแลและผ่อนปรนมากว่าการปรับขึ้นค่าแรง ด้วยบริษัทยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนบางส่วน เพื่อรองรับ (Absorb)ได้
ครึ่งหลัง ขยายตัวกว่า 6 เดือนแรก
ด้าน ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ โครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 จะขยายตัวมากกว่าในครึ่งปีแรก จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การส่งออกไปตลาดจีนและกำลังซื้อในประเทศ
ขณะที่ เงินเฟ้อจะชะลอตัวน้อยกว่า 2% เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง แต่ยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากอีกหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนของผู้ผลิตที่ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคจากการฟื้นตัวด้านอุปสงค์ ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
และคาดดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 2.25-2.5% ในสิ้นปี 66 โดยประเมินเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ทั้งปี 66 จะขยายตัวได้ 3.5%