ตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว มูลค่าคงค้าง 16.4 ล้านล้านบาท

ตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว มูลค่าคงค้าง 16.4 ล้านล้านบาท
ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างรวมเท่ากับ 16.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.1% โดยภาคเอกชนมีการออกหุ้นกู้ระยะยาว 617,664 ล้านบาท คิดเป็น 49% ของยอดการออกในปี 2565

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2566 มีมูลค่าเท่ากับ 16.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.1% จากสิ้นปีที่แล้วเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีมูลค่า 617,664 ล้านบาท คิดเป็น 49% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2565 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์  กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคาร ทั้งนี้ หุ้นกู้ระยะยาวที่ออกในช่วงครึ่งปีแรก เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป (PO: Public Offering) ในสัดส่วน 37% ของยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาว ซึ่งสูงขึ้นจากในปี 2565 ที่ 28%

สำหรับการออก ESG bond ในช่วง 2 ไตรมาสแรกปี 2566 เท่ากับ 92,427 ล้านบาท โดยจนถึงปัจจุบัน ผู้ออกภาคเอกชนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผู้ออก 3 รายในปี 2561 เป็น 23 ราย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2566
ด้วยมูลค่าคงค้าง ESG bond ของภาคเอกชนเท่ากับ 219,017 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ESG bond ประเภทตราสารหนี้สีเขียว (Green bond)  ส่วนภาครัฐถือเป็นผู้ออกรายใหญ่ของ ESG bond ของไทยประเภทตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) 

กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นไตรมาส 2 ปี 2566 นักลงทุนต่างชาติมียอดการขายสุทธิสะสม 8.1 หมื่นล้านบาท จากการขายสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือต่ำกว่า 1 ปี และซื้อสุทธิตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี  ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 2 นักลงทุนต่างชาติมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยที่ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.1% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยอายุคงเหลือเฉลี่ยของตราสารหนี้ไทยที่ถือครองเท่ากับ 8.1 ปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อสิ้นปี 2565 ที่ 8.0 ปี

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีความชันลดลง โดยรุ่นอายุต่ำกว่า 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัดราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่รุ่นอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป มีการปรับตัวลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มต่ำลง โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2566 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 52 bps. จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2.15% ส่วน Bond yield 10 ปี ปรับตัวลดลง 6 bps. มาอยู่ที่ 2.58%

อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตปรับตัวสูงขึ้น 19-33 bps. ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ใกล้เคียงกับการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2566 อันดับเครดิต AAA ปรับตัวมาอยู่ที่ 3.02%  AA ที่ 3.29%  A ที่ 3.58%  BBB+ ที่ 4. 50% และ BBB ที่ 5.33%

สำหรับการประมาณการยอดการออกหุ้นกู้ในปี 2566 คุณอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดว่าน่าจะได้เห็นยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ด้วยมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท ประกอบกับส่วนที่จะออกเพื่อทดแทนรุ่นที่ครบกำหนดไถ่ถอนในครึ่งหลังของปีและการออกเพื่อระดมเงินทุนใหม่รวมกันไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท 

โดย ดร.สมจินต์ กล่าวถึง ผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของผู้ร่วมตลาด ที่ส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในครึ่งหลังของปี จาก 2.00% ไปสู่ระดับ 2.25% ขณะที่ Bond yield รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 10-15 bps. จากสิ้นไตรมาส 2 ขึ้นไปที่ 2.47% สำหรับรุ่นอายุ 5 ปี และขึ้นไปที่ 2.70% สำหรับรุ่นอายุ 10 ปี ในปลายปี 2023 ตามทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ

TAGS: #ตลาดตราสารหนี้ #ตราสารหนี้ #หุ้นกู้ #หุ้นกู้เอกชน