เงินเฟ้อไทยทำสถิติต่ำสุดรอบ 9 เดือน ตามทิศทางราคาพลังงาน คาดทั้งปีตีกรอบ 2-3 %

เงินเฟ้อไทยทำสถิติต่ำสุดรอบ 9 เดือน ตามทิศทางราคาพลังงาน คาดทั้งปีตีกรอบ 2-3 %
น้ำมันชะลอตัวฉุดเงินเฟ้อเดือนม.ค.อยู่ที่ 5.02 %   ต่ำเป็นอันดับที่ 32 จาก 129 ประเทศ  ประเมินเดือนถัดไปยังขยายตัวไม่มา

วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  กล่าวว่า  ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 108.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 103.01 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 5.02%  (YoY) ชะลอตัวจากเดือนธันวาคม 2565 ที่สูงขึ้น 5.89%  อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ซึ่งมีปัจจัยจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2565) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี และเม็กซิโก รวมถึงประเทศในอาเซียน ลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยเงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 32 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ส่วนอัตราเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยทั้งปี 2565 สูงขึ้น 6.08% (AoA) ต่ำเป็นอันดับที่ 33 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข

สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัว 5.02%  (YoY)  เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 3.18% (YoY) (เดือนธันวาคม 2565 สูงขึ้น 3.87%) ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นทุกประเภท ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ (รถเมล์เล็ก/รถสองแถว รถแท็กซี่ เครื่องบิน)

นอกจากนี้วัสดุก่อสร้าง ค่าแรงช่าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน ค่าแต่งผมชาย) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก) ราคาสูงขึ้น  ขณะที่สินค้าที่ปรับลดลง  ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) เสื้อและกางเกง ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งผัดหน้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 7.70% (YoY) โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผักและผลไม้สด  ข้าวสาร และไข่ไก่

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญยังคงเป็นต้นทุนที่อยู่ระดับสูง และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร จากปริมาณที่มีเพียงพอต่อความต้องการ ผักสดและผลไม้บางชนิด (ขิง ถั่วฝักยาว พริกสด แครอท ทุเรียน)

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว จะทำให้ความต้องการบริโภคโดยรวมและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก โดยกระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 2-3 % ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

 

TAGS: #เงินเฟ้อ #ราคาพลังงาน #น้ำมัน #ท่องเที่ยว #ราคาสินค้า