โอกาสธุรกิจสว.(สูงวัย) รับตลาดใหญ่ในอนาคต ปี2583 คนไทยอายุ 80 ปีกว่า 3 ล.คน

โอกาสธุรกิจสว.(สูงวัย) รับตลาดใหญ่ในอนาคต ปี2583 คนไทยอายุ 80 ปีกว่า 3 ล.คน
กระแสการตื่นตัวธุรกิจ/บริการ เพื่อรองรับตลาดกำลังซื้อผู้สูงวัย ในประเทศไทยขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นแนวโน้มเดียวกับหลายประเทศในโลก

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงธุรกิจองค์กรหลายแห่งทั้งไทยและต่างชาติ ที่เข้ามาดำเนินการในไทย ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการจ้างงานกลุ่มผู้สูงวัยเป็นจำนวนมากขึ้น

ด้วยคนสูงวัยในยุคปัจจุบัน อายุอาจไม่ใช่อุปสรรคหลักในการทำงาน หากใจพร้อม กายพร้อม ก็ไปต่อได้ในโลกการทำงานยุคใหม่

ขณะที่ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุข้อมูลประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย(Aging Society) อย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่ 2 ปีก่อน (2564) และคาดการณ์ว่าภายในปี 2583 ประเทศไทย จะมีผู้สูงวัยจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ และผู้สูงวัยอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีมากถึง 3,500,000 คน เลยทีเดียว

จากตัวเลขผู้สูงวัยจำนวนดังกล่าว อาจสะท้อนต่อไปยังโอกาสธุรกิจบริการในอนาคต ที่มาจากความต้องการสินค้าบริการใหม่ เพื่อรองรับดีมานด์กำลังซื้อในตลาดกลุ่มนี้ได้

และเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพไม่น้อย ด้วยผู้สูงวัยหลักๆจะเป็นกลุ่มในวัยทำงาน ที่อยู่ในยุคเจนเนอเรชันเอ็กซ์ (Gen X ผู้เกิดในช่วง พ.ศ. 2508 – 2522) ปัจจุบันมีอายุราวๆ 44 -58 ปี ในปัจจุบัน ซึ่งในอีกเกือบ20 ปีข้างหน้าคนกลุ่มเหล่านี้ได้เปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่สังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ รูปแบบชีวิตของคน Gen X คือ มีชีวิตไม่ยากลำบาก อยู่ในโลกสงบเรียบร้อยแล้ว มีความมั่นคงในชีวิตสูง ไลฟ์สไตล์ หรือ การใช้ชีวิตมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ วิดีโอเกม โทรศัพท์มือถือ สไตล์เพลงเป็นแบบฮิปฮอป

ที่สำคัญ ‘มีเงินเก็บ’ ทั้งเงินบำนาญ บำเหน็จ จากการทำงานประจำในองค์​กรที่มั่นคง และจากออม/การลงทุน เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงชีวิตและครอบครัว

เมื่อมองเห็นอนาคตของกำลังซื้อเหล่านี้แล้ว ลองมาดูกันว่าจากนี้ไปธุรกิจบริการสินค้าประเภทใดบ้าง ที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการในตลาดลูกค้ากลุ่มนี้

โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดข้อมูลน่าสนใจ 8ธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุ หรือ ธุรกิจบริการต่างๆ ที่สนใจขยายหรือมองหาธุรกิจที่ทำได้ไม่ยาก และน่าจะเป็นปะโยชน์ที่ถูกอกถูกใจ กลุ่มเป้าหมาย ‘ซิลเวอร์ เอจจิง’ แบบนี้

1.เวชภัณฑ์และการดูแลสุขภาพ

ด้วยลักษณะโรคของกลุ่มผู้สูงอายุเปลี่ยนไปเป็นโรคเรื้อรัง มากขึ้น กว่า 80% ของผู้สูงอายุ มักมี 1โรคเรื้อรัง ได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือด (อันดับ 1) โรคมะเร็ง, ภาวะสมองเสื่อม เบาหวาน โรคกระดูกพรุน โรคข้ออักเสบ

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส ยาและการดูแลสุขภาพ มุ่งเน้นไปที่โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดสมองเสื่อม โรคเบาหวาน, โรคกระดูก พรุน โรคข้ออักเสบ อุปกรณ์ทาง การแพทย์และเทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องการสูญเสียการได้ยิน การดูแลทันตกรรม การดูแลสายตา

2. ระบบการเงินผู้สูงวัย

รัฐ มีภาระที่จะต้องจ่ายภาระเบี้ยบำนาญมากขึ้น จนกองทุนบำเหน็จบำนาญเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ และจะเปลี่ยนจากกองทุนรัฐ เป็นของเอกชนมาช่วยแบกภาระ

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส บริษัทการประกันภัย ประกันชีวิต ประกันการเกษียณอายุ, การออม, การจัดการสินทรัพย์ การบริหารกองทุนอสังหาริมทรัพย์ REITs

3. สินค้าอุปโภค บริโภค

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปโดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล น้ำตาลน้อยหรือไม่ใส่เลย ผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันหรือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และระบบย่อย เป็นต้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มาแรงที่สุด คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มรองลงมาคือ อาหารที่มาจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ และกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตมาก คือ วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทออร์แกนิกส์ (Organics) ที่ผลิตจากธรรมชาติหรือสมุนไพร และกำลังได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้บริโภคมั่นใจว่าปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมี ทั้งนี้หากผู้ประกอบการไทยสามารถประยุกต์ภูมิปัญญาไทยโดยนำสมุนไพรท้องถิ่นที่มีสรรพคุณต่อต้านริ้วรอย (Anti-Ageing) ยกกระชับ ลดรอยกระจุดด่างดำ มาผนวกกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้จะเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของเครื่องสำอางไทยเกิดเป็นสินค้าใหม่ๆ

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส การดูแลสุขภาพ การดูแลความตาย บริการเสริมความงามและเครื่องสำอาง, แฟชั่น, ค้าปลีกและเทคโนโลยี

4. การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ

เป็นการเดินทางที่มีกิจกรรมไม่หนัก ไม่ต้องเดินไกล ใช้เวลาแต่ละสถานที่ค่อนข้างนาน มีการแวะพักเพื่อเอื้อต่อการเข้าห้องน้ำที่บ่อยขึ้น ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอยู่ในรถ เช่น วีลแชร์ เป็นต้น หรือสินค้าที่จำหน่ายในระหว่างเส้นทางท่องเที่ยวก็ใช้ชื่อว่า “มุมสุขภาพ” เพื่อให้ผู้ซื้อไม่รู้สึกเขิน เช่นที่ประเทศญี่ปุ่นใช้แทนการระบุว่าเป็นสินค้าเพื่อผู้สูงวัย

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส การท่องเที่ยวและสันทนาการ สถานที่ท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของนักท่องเที่ยว

5. ธุรกิจบริการผู้สูงวัย

มีการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจของตนเองเพื่อให้เหมาะสมกับการบริการผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางรายในญี่ปุ่น ที่เริ่มปรับเปลี่ยนเวลาเปิดบริการให้เช้าขึ้น จากแต่เดิมที่เปิด 9 โมงเช้ามาเป็นเปิด 7 โมงเช้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง ยังได้มีการเพิ่มบริการรับจัดงานศพแบบเรียบง่ายในราคาย่อมเยาว์อีกด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่คาดว่าจะต้องใช้บริการ

เนื่องจากบริษัทรับจัดงานศพใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นมีค่าบริการที่สูงมาก ร้านกาแฟ-ร้านอาหาร ออกแบบทางเดินให้กว้างขวางกว่าปกติ เพียงพอให้ทั้งรถเข็นและอุปกรณ์ช่วยเดินผ่านได้ เก้าอี้ก็มั่นคงแข็งแรงและโต๊ะก็มีขนาดที่ค่อนข้างเตี้ยกว่ามาตรฐาน เมนูอาหารที่ขายก็เป็นอาหารที่เคี้ยวง่าย พนักงานก็จะบริการส่งอาหารให้ที่โต๊ะ

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าต่างๆ

6. วัสดุก่อสร้าง-อุปกรณ์

สำหรับผู้สูงอายุ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสร้างและตกแต่งบ้านที่มีผลต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิตภายในบ้าน การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกายภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงวัย เช่น ก๊อกน้ำ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกแบบปัดไปด้านข้างมากกว่าแบบหมุนหรือกด ลูกบิดประตู เลือกแบบก้านโยก จับถนัดมือ สวิทซ์-ปลั๊กไฟ ที่ใหญ่ มีสีสันที่เห็นชัดเจน

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส  ผู้ผลิตและร้านขาย วัสดุ-อุปกรณ์(Hardware)ต่างๆ

7. เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ

กลุ่มผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตเนื่องจากสภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอย ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ภายในบ้าน โดยเฟอร์นิเจอร์เพื่อผู้สูงอายุได้แก่ เตียงนอนที่สามารถปรับระดับได้และไม่สูงเกินไป ที่นอนยางพาราที่มีความแข็งตัว เก้าอี้ไม้ที่มีพนักพิง และหมอนเพื่อผู้สูงอายุ เป็นต้น

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส ผู้ผลิตและร้านขาย เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ภายในบ้าน

8. อสังหาริมทรัพย์ ที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ

จะเป็นธุรกิจอันดับต้นๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดว่าในระยะแรกจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุเป็นระยะสั้นๆ เช่น การดูแลระหว่างวันแบบไปเช้าเย็นกลับ(Daycare) และการพักฟื้นระยะยาว(Longstay) ที่พำนักระยะยาวจะมีโอกาสขยายตัวมากขึ้นซึ่งจะได้รับแรงผลักดันจากทั้งผู้สูงอายุคนไทยและชาวต่างชาติ

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มปรับตัวและติดตามพฤติกรรมของสังคมไทยที่จะเปลี่ยนไป รวมถึงศึกษารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับตลาดคนไทย

ผู้เกี่ยวข้อง/โอกาส อยู่อาศัยผู้สูงอายุ, การดูแลผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ยังมี 3 ทำเลที่เหมาะกับในการทำตลาดสินค้าบริการ สำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสม เพื่อสร้างยอดขายที่นำไปสู่ความสำเร็จในธุรกิจ ดังต่อไปนี้

1.ห้างสรรพสินค้า

สำหรับสินค้าสุขภาพโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ มักมีกลุ่มลูกค้าเป็นพวกลูกหลานที่มีกำลังซื้อสูง เป็นกลุ่มคนที่คอยดูแลผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเรื่องต่างๆ ซึ่งมักต้องไปในห้างสรรพสินค้าเป็นประจำเพื่อทำธุระต่างๆ

2.ออกงานแสดงสินค้า

การออกงานแสดงสินค้าตามธีมงานนั้นๆ จะช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จักได้เป็นอย่างดี เพราะทำเลนี้เปรียบเสมือนเวทีนำเสนอสินค้าให้คนทั่วไปได้รู้จัก

3.ออนไลน์

การโฆษณาออนไลน์อาจทำเป็นคลิปสั้นๆ เพื่อพรีเซนต์สินค้าให้ดูน่าสนใจ อีกทั้งยังสอดคล้องกับวิถีคนรุ่นใหม่ แต่อาจต้องซื้อโฆษณาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าสักหน่อย อย่างในแพลตฟอร์มออนไลน์ Facebook Instagram ก็จะช่วยให้ขายได้มากขึ้น

จาก 8 แนวทางธุรกิจ/บริการเพื่อดูไว้เป็นไอเดียสำหรับผู้สนใจ ก่อนนำมาปรับใช้จริงเพื่อรองรับกำลังซื้อผู้สูงวัย ที่มาแน่นอนในอนาคต

 

 

 

 

 

TAGS: #ธุรกิจสว #ผู้สูงวัย #ตลาดผู้สูงวัย