ภาคธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว  แต่ความเปราะบางสูงขึ้น  EICคาด16% เสี่ยงเป็นบริษัทผีดิบ  

ภาคธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว  แต่ความเปราะบางสูงขึ้น  EICคาด16% เสี่ยงเป็นบริษัทผีดิบ  
SCB EIC มองเศรษฐกิจไทย 2566 ครึ่งปีหลังยังดี ท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน รับแรงบวกจากท่องเที่ยว-บริโภคภาคเอกชน ยังทำได้ดี    

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลง จากการปล่อยสินเชื่อและภาวะการเงินที่จะตึงตัวต่อเนื่องตามผลสะสมของการขึ้นดอกเบี้ย ภาคการผลิตและอุปสงค์สินค้าที่จะยังซบเซา แรงหนุนจากภาคบริการที่เริ่มมีสัญญาณแผ่วลง แรงส่งจากเศรษฐกิจจีนที่ต่ำกว่าคาดรวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง 

อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานตึงตัวและการเติบโตที่แข็งแกร่งของค่าจ้างในช่วงครึ่งแรกของปีจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคในระยะต่อไป และช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของโลกมีแนวโน้มชะลอลงเร็วตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงเร็ว ความเสี่ยงที่ราคาพลังงานจะกลับมาเร่งตัวในช่วงปลายปีมีจำกัดตามอุปสงค์พลังงานโลกและจีนที่ยังอ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงช้า ตามค่าจ้างที่ยังสูงและตลาดแรงงานตึงตัว

ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักจึงมีแนวโน้มขยายวงจรขึ้นดอกเบี้ยไปถึงไตรมาส 3 และจะคงอัตราดอกเบี้ยสูงไว้ตลอดปีเพื่อให้ผลของดอกเบี้ยส่งผ่านไปยังระบบเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในช่วงปลายเดือน ก.ค. สู่ 5.25-5.5%

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกนานกว่า โดย ECB มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย อีก 2 ครั้งในช่วงปลายเดือน ก.ค. และ ก.ย. สู่ Terminal rate 4% สำหรับ BOE มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยจนถึงเดือน ก.ย. สู่ Terminal rate 5.75% สูงสุดในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Advance Economies : AEs)

SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี (H2) มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี (H1) จากแรงหนุนภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยฟื้นตัวใกล้เคียงประมาณการ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดี โดยเฉพาะหมวดบริการ

กอปรกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น สำหรับการส่งออกจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง H2 จากที่หดตัวต่อเนื่องใน H1

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำจากหลายปัจจัย อาทิ

1.การกลับมาของเอลนีโญที่เห็นสัญญาณชัดเจนขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตร โดยข้อมูลน้ำฝนในเดือน มิ.ย. สะท้อนว่าพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก อาจประสบภาวะฝนแล้งรุนแรงมากกว่าที่ SCB EIC คาดไว้ในเดือน พ.ค. 

2. การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีความไม่แน่นอนสูง อาจเป็นไปได้ที่จะล่าช้าถึงปลายเดือน ต.ค.
หลังพรรคก้าวไกลไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 

3. ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่ยังเปราะบางจากรายได้ไม่พอรายจ่าย และมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้อีกนาน มีแนวโน้มจะก่อหนี้เพิ่มเติมมากกว่ากลุ่มอื่นและ 

4. ภาคธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ความเปราะบางสูงขึ้น SCB EIC คาดว่าบริษัทราว 16% มีความเสี่ยงเป็นบริษัทผีดิบ (Zombie firms) ในปี 2566 ส่วนหนึ่งจากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและมาตรฐานการให้สินเชื่อธุรกิจของสถาบันการเงินที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น

เงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำ จากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มชะลอตัวและผลจากปัจจัยฐาน สำหรับนโยบายพยุงราคาพลังงานในประเทศมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการภาระต่าง ๆ ที่ภาครัฐเคยสนับสนุนไว้และการรักษาสมดุลของค่าครองชีพประชาชนมากกว่าการปรับตัวตามทิศทางราคาพลังงานโลก

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มจะชะลอลงช้ากว่าจากการทยอยส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการมายังราคาผู้บริโภค

SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินไทยจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ Terminal rate ที่ 2.5% ในไตรมาส 3 ตามปัจจัยเศรษฐกิจไทยที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยเงินเฟ้อที่แม้จะกลับมาอยู่ในกรอบแต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์
และปัจจัยดอกเบี้ยที่แท้จริงควรกลับเป็นบวก

ภาวะการเงินไทยจึงมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นต่อเนื่องในระยะสั้นเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าและผันผวนสูงจากหลายปัจจัยในระยะสั้น คาดว่าระยะเวลาการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางเงินบาท ในช่วงปลายปีคาดว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าที่ราว 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่จะปรับลดลง เงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่าหลัง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย และแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.scbeic.com/th/detail/product/eic-
monthly-0723

 

TAGS: #ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ #SCB #EIC #เศรษฐกิจโลก #เศรษฐกิจไทย