ท่องเที่ยวคึกคักดันดัชนีเชื่อมั่นฯขยับ เตือนรัฐเร่งรับมือเอลนีโญ

ท่องเที่ยวคึกคักดันดัชนีเชื่อมั่นฯขยับ เตือนรัฐเร่งรับมือเอลนีโญ
ส.อ.ท.ห่วงการเมืองไม่นิ่งตั้งรัฐบาลช้าฉุดความเชื่อมั่น ส่งสัญญาณรัฐรับมือภัยแล้ง กระทบพืชเกษตร ตลอดจนพื้นที่ EEC หากฝนไม่มา มีน้ำใช้แค่ 3 เดือน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย. 2566 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 92.5 ในเดือนพ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้ง คำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ทั้งนี้มีปัจจัยจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัวโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงการภาครัฐ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาท และอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงช่วยสนับสนุนภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลงโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียนและยุโรป

ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะสงครามรัสเซีย – ยูเครน ยังกดดันราคาพลังงานโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินโลก

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลง จาก 104.3 ในเดือนพ.ค.เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตามส.อ.ท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ  4 ประเด็น  คือ 1.ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้างวด 3/2566 (เดือนกันยายน - ธันวาคม 2566) ลงมาอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วย เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการและบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

2. เสนอให้ภาครัฐปรับเพิ่มเที่ยวบินและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโปรโมทสินค้าไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

3.เสนอให้ภาครัฐเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เริ่มรุนแรงและมีระยะเวลานาน  ภาครัฐจำเป็นต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอต่อภาคเกษตร  ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) หากฝนไม่ตก ปริมาณน้ำเข้าอ่างไม่พอ จะมีน้ำสะสมใช้แค่ 3 เดือน    และ 4.ขอให้ภาครัฐดูแลและบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง

 

TAGS: #ดัชนีความเชื่อมั่น #ส.อ.ท. #เอลนีโญ #ภัยแล้ง #EEC