สินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ มารีเมกโกะ (marimekko) ที่มีจุดเด่นลายพิมพ์ดอกป๊อปปี้ เบ่งบานสดใส หลากสีสัน ได้เข้ามาทำความรู้จักกับลูกค้าคนไทยตั้งแต่ 8 ปีก่อน จากการนำเข้าและทำตลาดของกลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป
ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ธนจิรา กรุ๊ป ย้อนจุดเริ่มต้นแบรนด์ marimekko เกิดขึ้น ในกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อกว่า 70ปีก่อน หรือราวปีคศ. 1951 (พ.ศ. 2494) เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 โดยผู้ก่อตั้งเป็นสองสามีภรรยา ‘วิริโย-อาร์มี ราเตีย’ (Viljo-Armi Ratia)
ด้วยในยุคนั้น ผู้คน หม่นหมองไร้ซึ่งความสดใส เป็นผลพวงจากร่องรอยของสงครามโลก ทำให้ ‘วิริโย และ อาร์มี’ เกิดไอเดียอยากสร้างสีสันให้กับชาวเมือง ผ่านลวดลายพิมพ์ผ้าดอกป๊อปปี้ ที่ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานผ้าที่พวกเขาลงทุนซื้อมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
ด้วยหวังให้ชาวฟินแลนด์นำไปใช้ตกแต่งภายในบ้านเรือน เพื่อสร้างชีวิตชีวา ให้สดใส กันได้แบบง่ายๆ
กระทั่งถึงปัจจุบันแบรนด์ Marimekko อาจเรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งแบรนด์สินค้าตัวแทนประเทศฟินแลนด์ ที่ชวนให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่นที่มาเยือน ต่างต้องหาซื้อสินค้าแบรนด์นี้กลับเป็นที่ของระลึกแทบทุกคน
Tote Bag ทูตการตลาดแบรนด์
ธนพงษ์ กล่าวต่อว่า บริษัทนำแบรนด์ merimekko เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2015 (พศ.2558) ปัจจุบันครบรอบ 8 ปีเต็ม และเตรียมเดินทางสู่ปีที่9 อย่างแข็งแกร่งในฐานะแบรนด์ไลฟ์สไตล์ สัญชาติฟินแลนด์ ด้วยจำนวนสาขากว่า 13 แห่ง มากทึ่สุดในตลาดภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ใต้หวัน และ ฮ่องกง
ต่อการทำตลาดแบรนด์ marimekko ในไทยจนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง มาจากจุดเริ่มต้นในการตีโจทย์แบรนด์ Marimekko ให้มีความสนุกสนานสดใส จากลายพิมฺพ์ไอคอนนิกดอกป๊อปปี้ ที่เป็นสัญลักษณ์ ให้ผู้บริโภคในตลาดประเทศไทย เข้าถึงได้ง่ายผ่านสินค้าไลฟ์สไตล์แฟชัน
โดยเฉพาะถุงผ้าคล้องไหล่ (Tote Bag) ของ Marimekko ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นไอเทมยอดนิยมในกลุ่มสาวๆ นักเรียน นักศึกษา และวัยทำงานที่ต้องการความลำลองแบบสบายๆ และสดใส
ขณะที่กระเป๋าผ้ารุ่น ดังกล่าวยังใช้กลยุทธ์ราคาใบละ 1,500 บาท เพื่อให้เป็นสินค้าที่เข้าถึงง่าย ในฐานะทูตพาผู้บริโภคชาวไทยไปทำความรู้จักกับสินค้าไลน์อัป อื่นๆ ในหมวดแฟชั่น เครื่องแต่งกาย แอคเซสซอรี ไปจนถึงของตกแต่งบ้าน อื่นๆได้อีก
ถึงปัจจุบันแบรนด์ marimekko ในไทย มีสินค้ายอดฮิตที่สร้างรายได้สูงใน 3 อันดับแรก คือ เสื้อผ้าสัดส่วน 49% หมวดกระเป๋า แอคเซสซอรี สัดส่วน 30% และหมวดสินค้าของตกแต่งบ้าน (Home Collection) สัดส่วน 20%
“การทำตลาดแบรนด์marimekko ในไทย ค่อนข้างแตกต่างไปจากประเทศอื่นที่ได้รับสิทธิ์ในการทำตลาด หรือแม้แต่ตัวบริษัทแม่เอง ซึ่งจะใช้สินค้าหมวดโฮม คอลเล็กชัน เป็นไอเทมนำในการทำตลาด แต่เรามองว่าตลาดเอชีย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะชื่นชอบสินค้าเกี่ยวกับแฟชันเครื่องแต่งกายมากกว่า ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จในไทย” ธนพงษ์ ขยายภาพให้ชัดขึ้น
marimekko kafe’ แห่งแรกในโลก
จากความสำเร็จด้วยยอดขายการสั่งซื้อ (Order) สินค้าจากบริษัทแม่ ประเทศฟินแลนด์ที่เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา8 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความมั่นใจให้กับกลุ่มบริษัทธนจิราเป็นอย่างมากว่า ‘เดินมาถูกทาง’ และพร้อมต่อยอดความสำเร็จของแบรนด์ดังกล่าว
ด้วยการนำแบรนด์พาไปสู่เส้นทางธุรกิจใหม่ในรูปแบบ Concept Store ที่เรียกว่า Marimekko kafe’ สาขาแรกในไทยตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม บนพื้นที่กว่า 200 ตร.ม.
โดยวางแนวคิดการนำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์ทุกหมวดแบรนด์ Marimekko วางจำหน่ายภายในสาขา พร้อมจัดสัดส่วนพื้นที่เป็นมุมคาเฟ่ เพียงรองรับกลุ่มลูกค้าทั้งรายเดิม YWN (คนรุ่นใหม่ ผู้หญิง และชาวเน็ต)ไปพร้อมกับขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ยังเป็น non user ให้เป็น user เพิ่มมากขึ้น
ธนพงษ์ บอกว่า จากกระแสคาเฟ ฮอปเปอร์ที่มาแรงในปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่บริษัทมองเห็นโอกาสที่จะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่นิยมไปคาเฟ่ เพื่อรีวิวและถ่ายรูปลงผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทรงพลังในการขับเคลื่อนแบรนด์สินค้า ได้เป็นอย่างดี
โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ทดลองเปิดสาขาป๊อป อัป สโตร์ marimekko คาเฟ่ ที่ศูนย์การค้าแเอมบาสซี และได้การตอบรับดี ซึ่งถิอเป็นบทพิสูจน์การทำงานของบริษัท ในฐานะพันธมิตรธุรกิจที่จะเติบโตไปด้วยกันกับบริษัทแม่ ได้เป็นอย่างดี ด้วยอนุมัติให้ ‘ธนจิรา กรุ๊ป’ พัฒนาโมเดลสาขาใหม่ของแบรนด์ในรูปแบบธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) เป็นครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทย
ขณะที่อาหารและเครื่องดื่มภายใน Marimekko Kafe’ จะมีให้บริการไม่ต่ำกว่า 50 เมนูแบ่งเป็น อาหาร 20 เมนู เครื่องดื่ม 20 เมนู และ กาแฟ 13 เมนู วางระดับราคาเริ่มต้นอาหารและเครื่องดื่ม กว่าหนึ่งร้อยบาท ขึ้นไป
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมแผนขยายคอนเซปต์ สโตร์ ในรูปแบบคาเฟ่ตามโรดแมปที่วางไว้ โดยจะพิจารณาจากทำเลเป็นหลัก ซึ่งจะไปพร้อมกับร้านสาขา merimekko ทุกครั้ง ด้วยจะต้องมีขนาดพื้นที่มากกว่า 200 ตร.ม. ขึ้นไป โดยปัจจุบัน Marimekko มีรูปแบบสาขาร้าน คือ คอนเซ็ปต์ สโตร์ ช็อป อิน ช็อป รวมถึงร้านสาขาขนาดเล็กพื้นที่ 60 ตร.ม. ที่เปิดให้บริการในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วย
ขณะเดียวกันบริษัท ยังอยู่ระหว่างประกาศแผนการเป็นผู้รับสิทธิ์และการทำตลาดแบรนด์ marimekko ในประเทศสิงคโปร์ ด้วย จากก่อนหน้าเคยมีตัวแทนท้องถิ่นในประเทศเป็นตัวแทนและได้ปิดกิจการไป
ไปต่อธุรกิจยั่งยืนด้วย F&B
ธนพงษ์ กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานกลุ่มบริษัท ยังเตรียมต่อยอดแบรนด์สินค้านำเข้าที่มีอยู่ไปสู่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อบริหารความเสี่ยงธุรกิจให้มีรายได้จากธุรกิจอื่น จากในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทยังได้นำคอนเซปต์ Tea Room เข้าไปเปิดให้บริการร่วมกับร้านสาขา Cath Kidston สาขาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งได้การตอบรับดีเช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนนำเข้าแฟรนไชส์ธุรกิจร้านอาหารระดับ Premium Dinning จากต่างประเทศ เข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่ม คาดพร้อมเปิดตัวในปลายปีนี้
สำหรับในปี 2565 ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทฯ มีผลประกอบการกว่า 1,200 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นแบรนด์ Pandora 51%, Marimekko 22% และที่เหลือราว 27% เป็น CathKidston และแบรนด์อื่นๆในเครือ อาทิ HARNN, Vuudh เป็นต้น