IRPC มั่นใจปีนี้ปิโตรเคมี-โรงกลั่นดีขึ้น หลังเผชิญวิกฤตพลังงานฉุดปี’65 ขาดทุน 4.3 พันล้าน

IRPC มั่นใจปีนี้ปิโตรเคมี-โรงกลั่นดีขึ้น หลังเผชิญวิกฤตพลังงานฉุดปี’65 ขาดทุน 4.3 พันล้าน
IRPC ปรับกลยุทธ์ฝ่าวิกฤต คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น ขยับโครงสร้างองค์กร เพิ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษมูลค่าสูง ระบุ ปี’65 ราคาพลังงานผันผวน วัฎจักรปิโตรเคมีขาลง ส่งผลให้มี EBITDA 3,987 ล้านบาทลดลง 85%

กฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC  กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาถือเป็นความท้าทายในการบริหารงาน เนื่องจากมีปัจจัยจากสถานการณ์ผันผวนภายนอกหลายด้านทั้งปัญหายืดเยื้อของความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ  นโยบาย Zero-Covid ในประเทศจีน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก วิกฤตพลังงาน ส่งผลให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก รวมถึงส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงอย่างมาก

ทั้งนี้ส่งผลให้ปี 2565  บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ จำนวน 318,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปี 2564  จากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 43 % ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมากที่เฉลี่ย 96.34 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปี 2564 ราคาเฉลี่ยที่ 69.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ขณะที่ปริมาณขายลดลง 8 % โดยมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 175,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงร้อยละ 9 จากการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่นตามแผน (Major Turnaround) ในไตรมาส 4/2565  ประมาณ 1 เดือน ประกอบกับส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวลดลงและต้นทุน Crude Premium สูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตราคาตลาด (Market GIM) จำนวน 23,761 ล้านบาท ลดลง 20% 

อย่างไรก็ดี ความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบช่วงปลายปี ส่งผลให้บริษัทฯ บันทึก Net Inventory Loss รวม 6,348 ล้านบาท หรือ 2.82 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 17,413 ล้านบาท หรือ 7.75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 23,279 ล้านบาท หรือ 10.29 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 3,987 ล้านบาท ลดลง 22,974 ล้านบาท หรือลดลง 85% และผลประกอบการปี 2565 บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ จำนวน 4,364 ล้านบาท

ในช่วงไตรมาส 4/2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 55,081 ล้านบาท ลดลง 32,231 ล้านบาท หรือ 37 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยลดลง 6 % และปริมาณขายลดลง 31 % เป็นผลมาจากอัตราการผลิตลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่น โดยราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 2,609 ล้านบาท  (6.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) ลดลง 42% และมีการบันทึก Net Inventory Loss รวม 6,816 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุน EBITDA จำนวน 7,836 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 7,149 ล้านบาท

กฤษณ์   กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ด้วยแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจจากความเชี่ยวชาญในธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัวของโครงสร้างองค์กร โดย บริษัทฯ ประสบความสำเร็จจากการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษมูลค่าสูง (Specialty Product)  22   %

การเปิดโรงงาน บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด ผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven fabric) วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังขยายกำลังการผลิต อีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายการลงทุนโครงการพีพี เมลต์โบลน (PP Meltblown) 40,000 ตันต่อปี ที่มีกำลังผลิตสูงสุดในประเทศ

และโครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีพี สปันบอนด์ (PP Spunbond) 190,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขอนามัย โครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีพีอาร์ (PPR: PP Random Copolymer Pipe) 80,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตท่อน้ำร้อนน้ำเย็นที่ไร้สารทาเลตเป็นรายแรกของภูมิภาค และโครงการผลิต เอชดีพีอี 100 - อาร์ซี (HDPE100 - RC) 40,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตท่ออุตสาหกรรมที่มีอายุการใช้งานได้นานถึง 100 ปี ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการก่อสร้าง

แนวโน้มธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ปี 2566 นั้น คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะสูงขึ้นเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบส่วนใหญ่  คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ ขณะที่ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและพันธมิตรมีนโยบายปรับลดการผลิตลงเดือนละ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปถึงสิ้นปี 2566 เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ

ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี ในปี 2566 คาดว่าความต้องการของตลาดจะเติบโต 1.5-2.0  %  โดยเฉพาะความต้องการจากจีนตามนโยบายเปิดประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการลงทุนจากภาครัฐ และส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2565  ในอัตรา 0.07 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 1,430 ล้านบาท โดยจะเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่  5 เมษายน 2566 ต่อไป

สำหรับผลการดำเนินงานและการดำเนินกลยุทธ์ภายใต้กรอบความยั่งยืนที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ บริษัทฯ ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ติดต่อกันเป็นปีที่ 9  รวมทั้งตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษเป็น 55% ในปี 2573  ตามทิศทางวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโต ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณค่าสู่สังคมให้ก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2565  ในอัตรา 0.07 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 1,430 ล้านบาท โดยจะเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่  5 เมษายน 2566 ต่อไป

 

 

TAGS: #IRPC #ปิโตรเคมี-โรงกลั่นน้ำมัน #วิกฤตพลังงาน