ส.อ.ท.หั่นยอดผลิตรถยนต์ลง 5 หมื่นคัน หลังหนี้ครัวเรือนพุ่ง ลิสซิ่งเข้มงวดฉุดออเดอร์หล่น ขณะที่รถ EVนำเข้าเบียดแข่งทำตลาดชิงส่วนแบ่มากกว่า 5%
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าขณะนี้ได้ปรับตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิกกลุ่มฯ ในปี พ.ศ.2566 จาก 1.95 ล้านคันคันเป็น 1.9 ล้านคันหรือลดลง 50,000 คัน โดยปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศขึ้นจาก 9.5แสนคันเป็น 9 แสนคัน
ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 90.6 ของจีดีพี ขณะที่ส่งออกสินค้าอื่นๆของประเทศลดลงติดต่อกันหลายเดือน ทำให้หลายอุตสาหกรรมลดกะการทำงานและลดการทำงานล่วงเวลา ส่งผลให้คนทำงานขาดรายได้และอำนาจซื้อลดลง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นรวมทั้งค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้มีหนี้และประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น จึงระวังการใช้จ่าย
นอกจากนี้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมากกว่าร้อยละ 5 ซึ่งเป็นรถยนต์นำเข้า ไม่ได้ผลิตในประเทศ โดยช่วงครึ่งปีหลังยังต้องติดตามการทำแคมเปญว่า จะมีรถ EV ราคาต่ำมาชิงส่วนแบ่งตลาดรถที่ใช้น้ำมันเพิ่มอีกหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องลดเป้าการผลิตเพื่อขายในประเทศลง
สำหรับการผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมิถุนายน 2566 มีทั้งสิ้น 145,557 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.78 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 3.30 โดย 6 เดือนแรกของปีมียอดผลิตรถยนต์ 921,512 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.91 ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกช่วง 6 เดือนแรก มีจำนวน 530,655 คัน เท่ากับร้อยละ 57.59 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 12.09
ด้านผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 60,648 คัน เท่ากับร้อยละ 41.67 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 2.01 และตั้งแต่ม.ค.-มิ.ย. ผลิตได้ 390,857 คัน เท่ากับ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.48
ด้านสถานการณ์ ยานยนต์ไฟฟ้า(BEV) 6 เดือนแรกมียอดจดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 43,045 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 487.65 โดยรถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 31,648 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - มิถุนายน 2565 ร้อยละ 943.80
ขณะที่ยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 6,272 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.46 ส่วนยอด
จดทะเบียนสะสมประเภท HEV มีจำนวนทั้งสิ้น 306,653 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 33.97
สำหรับการส่งออก เดือนมิถุนายน 2566 ส่งออกได้ 88,826 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 2.86 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 20.22 เพราะผลิตรถยนต์นั่งและรถ PPV เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.57 และ 96.51 ตามลำดับ โดยตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย.ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 528,816 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 17.61รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์ 6 เดือนแรก มีมูลค่า 443,350.30 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ กล่าวถึง การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าว่า ยังไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมีนัยสำคัญโดยยังเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค.นี้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องติดตามคือ มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า