ส่งออกยังน่าห่วงเดือนมิ.ย.ติดลบ 6.4% ลุ้นครึ่งหลังทยอยฟื้น

ส่งออกยังน่าห่วงเดือนมิ.ย.ติดลบ 6.4% ลุ้นครึ่งหลังทยอยฟื้น
‘พาณิชย์’ มองบวกแม้ส่งออกติดลบเทียบเพื่อนบ้านยังดีกว่าชี้ 6 เดือนติดลบแล้ว 5.4% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น ลุ้นครึ่งหลังพึ่งปัจจัยบาทอ่อน ราคาสินค้าเกษตรขยับ

นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศ–การค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนมิถุนายน 2566 และครึ่งแรกของปี 2566  ว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย. 2566 มีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (848,927 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 6.4 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.9 โดยมีปัจจัยสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคยังคงตึงตัวขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดจีนค่อนข้างช้ากว่าที่คาด

นอกจากนี้ คู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากผลกระทบของการหดตัวทางด้านอุปสงค์ มีการเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระยะนี้ และกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการยังขยายตัวดี อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักกระป๋อง และผักแปรรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไข่ไก่ ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทราย เป็นต้น

ทั้งนี้การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.4 มีมูลค่า 141,170.3 ล้านเหรียญสหรัฐ  ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 147,477.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.5 ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,307.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ตัวเลขส่งออกที่ยังติดลบ หากพิจารณาเทียบกับประเทศอื่นยังติดลบน้อย กว่าเพราะมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 6 เดือน อยู่ที่ 25,300 ล้านเหรียญสหรัฐ  สูงกว่าในช่วงก่อนโควิด  ขณะที่เดือนมิ.ย. ติดลบสูง 6.4 % เทียบกับปีก่อนเพราะฐานสูงไม่อยากให้มองด้านลบเกินไปหากดูตัวเลขมูลค่าเดือนมิ.ย.ถือว่าน่าพอใจ โดยยังคงเป้าหมายส่งออกปีนี้ไว้ที่ 1-2%”

 

อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 8.6 (YoY)  ติดต่อกัน2 เดือน โดยสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 7.4 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 10.2 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 14.2 น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 31.4 เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 8.3 ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 10.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือนเป็นต้น

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 15.0 หดตัวในรอบ 6 เดือน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 16.7 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 16.7 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ยางพารา หดตัวร้อยละ 43.0 หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน เป็นต้น

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 4.6 (YoY) ซึ่งกลับมาหดตัวอีกครั้ง หลังจากที่ขยายตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 7.2 แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 5.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 31.2

ส่วนภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่หดตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวของภาคการผลิตโลก โดยตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอาเซียน กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อน

สำหรับแนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ จากการบริโภคและการลงทุนที่ยังอ่อนแอ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบางจากอุปสงค์ภายในและตลาดแรงงานที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดเยอรมนี ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ที่มีระดับค่าครองชีพสูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง

ขณะที่การถอนตัวจากข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ของรัสเซีย และปัญหาภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ สร้างความกังวลต่อการตึงตัวของอุปทานอาหารโลก ซึ่งอาจจะกระทบต่อเงินเฟ้อและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเปิดตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา

นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลกอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ

 

 

TAGS: #ส่งออก #เศรษฐกิจคู่ค้า #เงินบาทอ่อน