'ศาลปกครอง' คำพิพากษายืนคดีโครงการแอชตัน อโศก มูลค่่ากว่า 6พันล. ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง สิ้นสุดการต่อสู้ยาวนานร่วม7 ปี ยังส่งต่อสู่การเป็นบรรทัดฐานให้เช็คบิลรายอื่นในทำนองเดียวกันอีก
เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดี ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และพวกรวม 16 ราย ยื่นฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก และ ขอเพิกถอนใบอนุญาตให้โครงการฯ ใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
โดย ศาลปกครองสูงสูด อ่านคำวินิจฉัย ยืนคำพิพากษาตามศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ “เพิกถอนใบอนุญาต” โครงการคอนโดมิเนียมหรู 'แอชตัน อโศก' ของบริษัท อนันดา เออมเอฟ เอเชีย อโศก ในเครือ บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564
ย้อนกลับไป ปี 2557 บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดตัวโครงการคอนโดหรูทำเลทองติดรถไฟฟ้าโครงการ ‘แอชตัน อโศก’ โครงการร่วมทุนระหว่าง มิตซุย ฟูโดะซัง พันธมิตรผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อันดับใหญ่หนึ่งในสามของญี่ปุ่น มูลค่าโครงการฯ 6,481 ล้านบาท จำนวน783 ยูนิต เป็นอาคารสูง 51 ชั้น ทำเลหลังศูนย์การค้าเทอร์มินอล และสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ติดกับสถานีรถไฟฟ้า BTS อโศก และ MRT สุขุมวิท
โดย อนันดาฯ ได้เข้าซิ้อที่ดิน จำนวน 3 แปลง 2 ไร่ 3 ไร่ และ 47.6 ไร่ รวมพื้นที่ในอาคาร 55,206.14 ตร.ม. แต่ก็เป็นพื้นที่ตาบอดไม่มีทางเข้า-ออก เพราะที่ผ่านมา รฟม. เวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว เพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า
ทำให้เจ้าของโครงการ "แอชตัน อโศก" ทำข้อตกลงกับทาง รฟม. ขอใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นทางเข้า-ออกโครงการฯ
ขยายความกว้างถนนจาก 6 เมตร เป็น 12 เมตร เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายผังเมือง ที่กำหนดว่าการก่อสร้างอาคารสูงจะต้องมีทางกว้างถนนไม่ต่ำกว่า 12 เมตร
จากนั้นในปี 2559 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านผู้อยู่อาศัยย่านสุขุมวิท19 ที่มีพื้นที่ติดต่อกับซอยสุขุมวิท 21 ยื่นฟ้องร้อง แก่ศาลปกครองกลาง ละเลยปฏิบัติหน้าที่และออกใบอนุญาต ให้กับ อนันดา ในการสร้าง แอชตัน อโศก จากนั้นในปี 2560 ผู้ฟ้องคดียื่นขอให้ศาล มีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา
โดยตลอดระยะเวลาการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง แอชตันอโศก ก็ยังเดินหน้าก่อสร้างต่อเนื่อง จนแล้วเสร็จในปี 2561 และสามารถเปิดใช้งานโครงการ และโอนกรรมสิทธิ์แก่ลูกบ้านได้ ที่ใช้เวลานานร่วม 5 ปี ทีเดียว
และ คำตัดสิน เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2565 ศาลปกครองกลางยังได้ พิจารณาคดี แอชตัน อโศก มีมติให้ทุกฝ่ายที่ตกเป็นจำเลยหาทางออก และแก้ไขออกแบบในส่วนที่ผิดกฎหมายให้แล้วเสร็จ กระทั่งล่วงมาถึงการการวินิจฉัยคำพิพากษายืน ของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา
โดยปัจจุบัน แอชตัน อโศกมีลูกบ้านทั้งครอบครัวคนไทยและต่างชาติ มากกว่า 600 ครอบครัว รวมแล้วกว่า 1,000 คน
โดยความคืบหน้าล่าสุด แอชตัน อโศก เตรียมหารือกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อหามาตรการเยียวยาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมกับที่ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกมาระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่าเตรียมร้องไปยัง 'ชัชชาติ สิทธิพันธ์' ผู้ว่าราชการกทม. ให้ตั้งคณะกรรมการสอบเอาผิดเจ้าหน้าที่ กทม. ปม 'แอชตันอโศก' ละหากล่าช้าจะร้องต่อไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เอาผิดผู้ว่าฯ กทม.
จากคำตัดสินศาลปกครอง ดังกล่าวส่งผลให้ 'แอชตัน อโศก'เป็นคดีประวัติศาสตร์ของมหาชนไปในทันที ด้วยต้องรื้อถอนอาคารออก จากก่อหน้าจะเคยมีกรณีลักษณะเดียวกันให้สั่งรื้อถอนโรงแรมแห่งหนึ่งในซอยร่วมฤดี แต่ในกรณีนี้มีผู้เสียหายเพียงคนเดียวคือ เจ้าของโรงแรม
ทว่าสิ่งที่แตกต่าง คือ กรณีแอชตัน อโศก เกิดความเสียหายกับผู้ซื้อคอนโดโครงการฯ ราว 580 ครอบครัว นอกจากนี้ยังเป็นโครงการฯร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติ
ขณะที่คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นที่สิ้นสุด และยังส่งผลให้โครงการแอชตันอโศก จะกลายเป็นคดีบรรทัดฐานของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ต่อไปด้วย
ด้วยมีกรณีที่ใกล้เคียงกัน อาจตัดสินโดยยึดโยงจากคดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ว่าจะส่งแรงสั่นสะเทือนถึงวงการอสังหาฯไทย ด้วยยังมี 13 โครงการอสังหา และอีกกว่า 100 โครงการศูนย์การค้า ที่ขอใช้ประโยชน์จากพื้นที่รัฐ และส่วนราชการ ที่อาจโดนไล่ตรวจสอบย้อนหลัง