หนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท รอวัดฝีมือรัฐบาลใหม่

หนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท รอวัดฝีมือรัฐบาลใหม่
หนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท ถือเป็นปัญหาใหญ่ ที่จะวัดฝีมือรัฐบาลใหม่ด้านเศรษฐกิจว่าจะมีดีสยบปัญหาหนี้ครัวเรือนได้หรือไม่

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงาน ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากการปรับข้อมูลให้ครอบคลุหนี้อื่นๆ ที่เป็นหนี้เก่าที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ เช่นหนี้ของการกู้ยืมจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)​ เป็นต้น

แม้ว่า หนี้ครัวเรือนล่าสุด ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 91.4% และจำนวนบัญชีและยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ล่าสุดได้ทยอยปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนน่าเป็นห่วง ว่าในระยะต่อไป NPL อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และยังเป็นการฟื้นตัวแบบกระจุกตัว

ล่าสุด ธปท.​ ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินทั้ง ธนาคารพาณิชย์​ ธนาคารรัฐ​ รวมถึงนอนแบงก์ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนครั้งใหญ่รอบใหม่ โดยการช่วยลูกหนี้เดิมไม่ให้หลุดจากการเป็นหนี้ครัวเรือนที่ไม่มีคุณภาพ รวมถึงการรณรงค์กระตุกจิตสำนึกไม่ให้ลูกค้าเข้าสู่วงจรการเป็นหนี้ครัวเรือน หรือหากมีความจำเป็นต้องเป็นหนี้ครัวเรือน สถาบันการเงินนั้นก็ต้องเป็นเจ้าหนี้ครัวเรือนที่รับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ต้องยอมรับว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือ เป็นการลดต้น ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาการชำระหนี้คืนให้ยาวขึ้น ให้ลูกหนี้ผ่อนชำระต่อไปได้ และไม่เป็นหนี้เสียกับสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้

แต่จำนวนหนี้ครัวเรือนไม่ได้ลดลง และคุณภาพหนี้ก็ไม่ดีขึ้น เพราะการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ดีที่สุด คือ การเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนมากขึ้น เพื่อที่จะมีเงินมาชำระหนี้ได้พอ และมีเหลือที่จะยังชีพระดับพื้นฐานได้มั่งคง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ระดับนโยบายของประเทศ 

ซึ่งหนีไม่พ้นพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะมาเป็นรัฐบาลใหม่ ว่า จะมีนโยบายการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมยั่งยืนอย่างไร ที่สำคัญรายได้ที่เพิ่มขึ้นต้องเป็นการหาได้เพิ่มขึ้นด้วยความสามารถของลูกหนี้ ไม่ใช่เป็นมาตรการที่รัฐบาลแจกเงิน หรือ หยุดพักชำระหนี้ และรัฐบาลไปเคลมว่ามาตรการแบบนี้เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

ล่าสุด ม.หอการค้าไทยรายงานว่า หนี้ครัวเรือนไทยต่อครอบครัวสูงที่สุดในรอบ 15 ปี อยูที่ระดับ 5.59 แสนบาทต่อครัวเรือน เพิ่ม 11.5% ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิิตประจำวันแต่ก็ยอมรับมีหนี้ครัวเรือนจำนวนหนึ่งถูกนำไปใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลเช่นกัน เพราะหลายๆ พรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาบเข้ามาบริหารเศรษฐกิจของประเทศ​ มีนโยบายกระตุ้นการบริิโภคภาค ทั้งการให้จับจ่ายซื้อของใช้ของกิน และกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมสร้างหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความท้าทายของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยให้ได้อย่างยั่งยืนจะไม่ได้อยู่แค่เพียงการลดสัดส่วนของหนี้ครัวเรือน แต่จะอยู่ที่การดูแลให้หนี้สินที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคครัวเรือน และทำให้โครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทยมีส่วนผสมของหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้นได้อย่างไร

ทั้งหมดเป็นปัญหาหนี้ครัวเริือนก้อนโต 16 ล้านล้านบาท ที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาโชว์ฝีมือแก้ปัญหาว่าจะได้ดีกว่าที่ผ่านมาได้อย่างไร

TAGS: #หนี้ครัวเรือน #รัฐบาลใหม่ #การเพิ่มรายได้