กกร.ห่วงเศรษฐกิจครึ่งหลังเผชิญความท้าทายสูง 4 ส.ค.ต้องได้นายกฯเดินหน้าตั้งรัฐบาล เร่งแก้ภัยแล้ง ดูแลค่าครองชีพประชาชน
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีความท้าทายสูง แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมในปีนี้มีโอกาสที่จะฟื้นตัวเป็นไปตามคาดที่ 29-30 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังต่ำอยู่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเต็มที่
ขณะที่แรงส่งต่อเศรษฐกิจจากอุปสงค์ภายในประเทศเผชิญปัจจัยท้าทายมากขึ้น จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยต่อคนยังอยู่ต่ำกว่าปี 2562 ภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ และห่วงว่าเศรษฐกิจจะถดถอย ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับลดลง มีความกังวลต่อความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมือง การทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐ และการชะลอตัวของการส่งออก ที่ประชุมกกร.จึงมีความเป็นห่วง และต้องการเห็นการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่โดยเร็ว
ด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีเผชิญผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป และความกังวลเงินเฟ้อ ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินการเติบโตเศรษฐกิจโลกเพียง 3% อยู่ในเกณฑ์ต่ำมากเมื่อเทียบกับอดีต
ด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มแผ่วลงสะท้อนจากจีดีพีไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 6.3% ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 7.3% และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เป็นผลมากนัก ดังนั้น ภาคการส่งออกสินค้าของไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้
อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงของไทยตอนนี้คือ ปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าคาด ปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง ม.ค.-ก.ค. 66 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40% เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือนกรกฎาคม 2566 พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนในอยู่ในระดับวิกฤตใน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำใช้การได้ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรง
ทั้งนี้ประเมินว่าภัยแล้งอาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท จึงต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 66 ถึงครึ่งแรกของปี 67
นอกจากนี้ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุดระบุว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินโดยเฉลี่ยครอบครัวละ 5.59 แสนบาท สูงสุดในรอบ 15 ปี และมีจำนวนถึง 54% ที่มีหนี้สูงกว่ารายได้ โดยพบว่า เป็นหนี้นอกระบบสูงถึง 19.8% ของหนี้ทั้งหมด ที่ประชุมกกร.มองว่า ควรมีการผลักดันอย่างจริงจังให้นำข้อมูลหนี้สหกรณ์และการประมาณการหนี้นอกระบบที่เชื่อถือได้ รวบรวมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลหนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมของข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่มาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง และมีมาตรการที่ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องรายได้ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาโดยองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ
นายผยง กล่าวว่า จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ภาคเอกชนมีความท้าทายทั้งด้านรายได้และเรื่องต้นทุน ที่ประชุม กกร. เสนอให้พิจารณาหาแนวทางการแก้ปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนในการดำรงชีพในภาคประชาชน ที่สะท้อนมาจากราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น และอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก จากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน อาทิ ภาวะภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน อาจทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ความเสี่ยงโรคระบาดในปศุสัตว์จากสภาพอากาศที่แปรปรวน
รวมถึงราคาพลังงานที่ยังผันผวน กกร. จึงเสนอให้ภาครัฐดูแลต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ปุ๋ย และอาหารสัตว์ รวมถึง ต้นทุนด้านอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบการ
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีการติดตามและเฝ้าดูในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะออกมาอย่างไร โดยเฉพาะในวันที่ 4 ส.ค.จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็หวังว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ และสามารถจัดตั้งครม.เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ตลอดจนแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อไปได้ ซึ่งน่าจะจบและเห็นรัฐบาลชุดใหม่ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
“ถ้าได้รัฐบาลใหม่มา จะทำให้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจเดินหน้าไปด้วย ซึ่งต้องการให้เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้นไปกดทับการใช้จ่ายเอาไว้ รวมถึงปัญหาต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน โดยเฉพาะราคาพลังงาน ตอนนี้หากการเมืองมีความชัดเจตน ความเชื่อมั่นจากนักลทุนต่างชาติก็จะกลับมา หากการจัดตั้งรัฐบาลช้าจะยิ่งทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในหลายๆด้านจะกระทบไปด้วย สำหรับรัฐบาลใหม่ทางภาคเอกชนก็พร้อมสนับสนุนนโยบายด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว”