เที่ยวไทยฟื้นตัว ดันเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.ดีขึ้น ในรอบ 26 เดือน

เที่ยวไทยฟื้นตัว ดันเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.ดีขึ้น ในรอบ 26 เดือน
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้นเป็นเดือนที่ 8 มองเศรษฐกิจเริ่มขยับ คาดจีนมาไทย 7 ล้านคน เงินสะพัด 3.5 แสนล้าน แต่กังวงค่าครองชีพยังท

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  กล่าวว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2566  ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 49.7 เป็น 51.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือนนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในไตรมาสแรกของปีนี้

นอกจากนี้การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังจากที่จีนเปิดประเทศรวมถึงสถานการณ์โควิดในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงอย่างมากจากช่วงครึ่งปีแรกทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตามคาดการณ์ปัจจัยบวกทั้งด้านการท่องเที่ยวที่ชาวจีนและรัสเซียเข้าประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยสูงถึง 6-7 ล้านคนมีเม็ดเงินมากกว่า 3-3.5 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมีเงินไหลเวียนกว่า4.5-5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโต 3.5-4 % ส่วนการส่งออกแม้จะไม่ดีนัก แต่ภาพรวมยังขยายตัวได้ 1-2%

ธนวรรธน์ กล่าวว่า ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงรวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

“สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤต COVID-19 อัตราเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

 

 

 

TAGS: #ดัชนีเชื่อมั่น #หอการค้าไทย #ท่องเที่ยว #รัสเซีย-ยูเครน