กฟผ.-ไฟฟ้ามาเลฯ ลุยพัฒนาสายส่งภาคใต้ ตั้งเป้าฮับซื้อขายไฟอาเซียน

กฟผ.-ไฟฟ้ามาเลฯ ลุยพัฒนาสายส่งภาคใต้ ตั้งเป้าฮับซื้อขายไฟอาเซียน
กฟผ.เอ็มโอยู การไฟฟ้ามาเลฯ  ร่วมออกแบบโครงข่ายสายส่งเชื่อม 2 ประเทศ รองรับ ASEAN Power Grid  พร้อมซักซ้อมแผนกรณีซื้อไฟเพิ่มหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

พลเอกประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรี​แ​ละรัฐมนตรี​ว่าการกระท​รวงกลาโหม และดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยาน​ในการลงนามความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้า​ฝ่าย​ผลิต​แห่ง​ประเทศไทย​ (กฟผ.) กับการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) เพื่อร่วมพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าระหว่างไทยและมาเลเซีย  

บุญญนิตย์​ ว​งศ์รักมิตร​ ผู้ว่าการ​ กฟผ.กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง TNB และ กฟผ. ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการยกระดับการเชื่อมต่อระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศเพื่อรองรับการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) สร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของภูมิภาค และใช้สำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงหรือยามฉุกเฉิน เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง​การซื้อขายไฟฟ้าอาเซียนในอนาคต

ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันศึกษาความเหมาะสม แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียเป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งการออกแบบระบบส่งไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ศึกษากฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงการประเมินต้นทุนและความเสี่ยงต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบันสายส่งไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันสูง (HVDC) ขนาด 300 เมกะวัตต์ ที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองแงะ อำเภอสะเดา จังหวัด​สงขลา​ กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงกูรูน รัฐเคดาห์​ ประเทศมาเลเซีย ดำเนินการ​มาตั้งแต่ปี 2545 และจะครบอายุการใช้งานในปี 2570

ดาโตะ อินเดรา บาฮาริน บินดิน ประธานกรรมการบริหาร​ TNB กล่าว​​ว่า​ TNB และ กฟผ. มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันขับเคลื่อน ASEAN Power Grid ให้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งการศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถระบบส่งไฟฟ้าระหว่างไทยกับมาเลเซียในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ช่วยผลักดันนโยบายดังกล่าว

ทาง TNB ยังดำเนินการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้ากับประเทศสิงคโปร์ และร่วมกับการไฟฟ้าอินโดนีเซีย (PLN) เชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าจากเกาะสุมาตราไปยังมาเลเซีย และจากกาลิมันตันไปยังซาบาห์ นอกจากนี้ TNB หวังว่าจะได้มีโอกาสเรียนรู้จากความเชี่ยวชาญของ กฟผ. ทั้งการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานและพัฒนาต่อยอดความร่วมมือด้านอื่น ๆ กับ กฟผ. ในอนาคตต่อไป

 

       

 

 

TAGS: #กฟผ #TNB #สายส่งไฟฟ้า #อาเซียน