หนี้ครัวเรือน เป็นหนี้เสีย 1 ล้านล้านบาท

หนี้ครัวเรือน เป็นหนี้เสีย 1 ล้านล้านบาท
หนี้ครัวเรือนไทย 16 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย 1 ล้านล้านบาท จ่อเป็นหนี้เสียเพิ่มอีกเกือบ 5 แสนล้านบาท

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการ บริษัทเครดิตบูโร เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยที่มีการจัดเก็บในระบบฐานข้อมูล​ของเครดิตบูโร​จากจำนวนประชากร​ 32 ล้านลูกหนี้​ คิดเป็นเงิน​ 13.45 ล้านล้านบาท (หนี้ครัวเรือนไทยที่รายงานอย่างเป็นทางการคือ​ 15.96ล้านล้านบาท กับสถาบันการเงิน​ไทยกว่า​ 135แห่ง​) ส่วนที่ไม่ได้จัดเก็บในระบบของเครดิตบูโร​หลักๆคือ​ หนี้สินเชื่อสหกรณ์​ออมทรัพย์, เครดิตยูเนี่ยน, กยศ.​เป็นต้น

หนี้ครัวเรือนดังกล่าว มีหนี้ที่มีการค้างชำระ​ 31-90 วัน ที่อาจจะกลายเป็นหนี้เสีย 4.75 แสนล้านบาท​ ลดลงมาจากไตรมาสที่​ 1ของปี​ 2566​ เดือนมีนาคม​ ที่มีอยู่สูง​ 6 แสนล้านบาท​ อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าไปดูไส้ในจะพบว่า​ 2 แสนล้านบาทเป็นหนี้กู้ซื้อรถยนต์​ 1.3 แสนล้านบาท เป็นหนี้กู้ซื้อบ้านในจำนวนนี้​ 9 หมื่นล้านบาท เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐ​ ซึ่งก็จะสะท้อนไปที่บ้านราคาไม่แพง​ กลุ่มรายได้ปานกลาง รายได้น้อย​ นอกจากนี้ยังมีหนี้​ Ploan​ อีก​ 8.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับหนี้ที่อาจจะเป็นหนี้เสีย แบ่่งเป็น สินเชื่อบ้านอยู่ที่​ 22%, สินเชื่อรถยนต์​ 12%, สินเชื่อส่วนบุคคล​ 54% และบัตรเครดิต​ 57% แม้ว่าไม่น่าวิตกรุนแรง แต่ก็ไม่ควรสบายใจ เพราะการค้างชำระในส่วนของหนี้ที่มีหลักประกัน​เช่นรถยนต์, บ้านที่อยู่​อาศัย​นั้น​ เป็นอะไรที่ไม่น่าจะสบายใจนัก ประกอบกับประชาชนยังมีเรื่องของค่าครองชีพ, ค่าไฟฟ้า​ ค่าน้ำมัน​เชื้อเพลิง​อีกส่วนหนึ่งที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น​ แรงกดดันจากค่าใช้จ่ายตรงนี้มันจะมาเบียดรายได้ที่ไม่ค่อยจะแน่นอน​ มั่นคง​ เพียงพอที่จะรองรับการเอาไปชำระหนี้ในแต่ละเดือนได้ให้ไม่เกิดการค้างชำระได้ขนาดไหน​

นายสุรพล กล่าวว่า ในส่วนของหนี้ครัวเรือนตอนนี้แตะระดับ​ 1.03 ล้านล้านบาทอีกครั้งในเดือนมิถุนา​ยน​ 2566​ ที่ระดับ​ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น​ 7.7% เมื่อไตรมาส​ 1ปี​ 2566​ มันอยู่ที่​ 9.5 แสนล้านบาทครับ​

ไส้ในของหนี้ที่เสียไปแล้วหรือหนี้​ NPL​s ประกอบด้วย​ หนี้กู้ซื้อรถยนต์​เกือบ​ 2 แสนล้านบาท​ หนี้กู้ซื้อบ้าน​ ที่อยู่​อาศัย​ 1.8 แสนล้านบาท​ หนี้​ Ploan 2.5 แสนล้านบาท​ บัตรเครดิต​ 5.6 หมื่นล้านบาท​ หนี้เกษตร​ 7.2 หมื่นล้านบาท​ เป็นต้น​ ที่น่าสังเกตคือหนี้กู้มาซื้อรถยนต์​นั้นมันเพิ่มขึ้นจากกลางปีที่แล้ว​ มิถุนายน​ 2565​ สูงถึง 18% อันนี้ต้องยอมรับว่ากลิ่นไม่ค่อยดี

“​หนี้ครัวเรือนที่เป็นหนี้เสียแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท และเป็นหนี้คุณภาพไม่ได้ขาดชำระที่จะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตอีก 4.75 แสนล้านบาท​ โดยหนี้กู้มาซื้อรถยนต์ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง”​ นายสุรพล กล่าว

TAGS: #หนี้ครัวเรือน #เครดิตบูโร #ธปท.