ส่องนโยบายลดค่าไฟ-ราคาน้ำมันไม่ใช่เรื่องง่ายระวังก่อหนี้ระยะยาว

ส่องนโยบายลดค่าไฟ-ราคาน้ำมันไม่ใช่เรื่องง่ายระวังก่อหนี้ระยะยาว
นักวิชาการชี้นโยบายเพื่อไทยลดราคาพลังงาน ทำได้ยากสวนทางตลาดโลกขาขึ้น ซ้ำเติมหนี้กองทุนน้ำมันฯ เชื่อคนไทยปรับตัวได้ แนะรื้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเอกชนลดค่าพร้อมจ่ายกดต้นทุนเอฟทีลง

 

นายพรายพล  คุ้มทรัพย์   นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายพรรคเพื่อไทยที่ต้องการช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนโดยประกาศตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งจะลดค่าไฟฟ้าและลดราคาน้ำมัน เมื่อได้เป็นรัฐบาลนั้น  ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการในช่วงนี้ เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง

 

การจะลดราคาน้ำมันให้กับประชาชน ในทางปฏิบัติมีไม่กี่วิธี คือการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปพยุงราคาไว้ ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯใช้เงินอุดหนุนราคาดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 5 บาท เพื่อตรึงราคาไม่ให้เกิน 32 บาท  รวมถึงการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ที่ราคา 423 บาท(ขนาด15ก.ก.)ต่อถัง จนถึงสิ้นเดือนส.ค.นี้

 

ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯยังติดลบอยู่ 50,438 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 5,323 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)   ดังนั้นหากจะใช้เงินกองทุนน้ำมันฯเข้าไปลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินหรือแก๊สโซฮอล์อาจสร้างภาระหนี้ที่มากขึ้นในระยะยาวได้  

ส่วนจะใช้แนวทางอื่นๆ โดยลดค่าการกลั่น และค่าการตลาดน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันนั้น สามารถทำได้แต่คงลดได้ไม่มากนัก  เพราะมีอัตราที่ไม่สูง 

สำหรับการลดอัตราค่าไฟฟ้า หรือค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) นั้น ต้องยอมรับว่าต้นทุนเชื้อเพลิงขณะนี้อยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ  ซึ่งไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)นำเข้า ค่อนข้างมาก ยังต้องอิงกับราคาในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศ  ประกอบกับยังต้องทยอยชำระหนี้คืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)จากการเข้ามาช่วยตรึงค่าเอฟทีในช่วงที่ผ่านมาด้วย ดังนั้นแนวทางการลดค่าไฟจะต้องหาเงินจากส่วนอื่นมาช่วยดูแล

 

“การลดค่าไฟและราคาน้ำมัน ในช่วงเวลานี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย หากจะทำก็ต้องยอมเฉือนรายได้รัฐ  ยอมเป็นหนี้  จากการลดภาษีน้ำมันหรือใช้เงินกองทุนน้ำมันฯมาใช้  ก็อาจช่วยประชาชนได้แต่ก็จะมีผลกระทบอีกด้านหนึ่งเช่นกัน”

 นายพรายพล  กล่าวถึง แนวทางการลดค่าไฟฟ้านั้นควรมองในระยะยาว อยากให้ไปพิจารณาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP ) ยังสามารถทบทวน ขอปรับสัญญา ลด “ค่าพร้อมจ่าย” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่กฟผ.ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนที่เตรียมความพร้อมสำหรับส่งไฟฟ้าเข้าระบบและจะถูกนับเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ  ในขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ในระดับที่สูงสัดส่วน 40-60%  เทียบกับต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีสำรองไฟฟ้าไว้เพียง 15% เท่านั้น หากเจรจาลดค่าพร้อมจ่ายลงได้ก็จะช่วยลดต้นทุนค่าเอฟทีได้และทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนถูกลง

TAGS: #ลดค่าไฟ #พรรคเพื่อไทย #ลดราคาน้ำมัน #กองทุนน้ำมัน #ค่าเอฟที