ไทยเร่งเครื่องดันส่งออกไปจีนหลังเปิดประเทศ ปักธง ผลไม้-ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ เตือนวางแผนรองรับหากกลับมาล็อคดาวน์อีกครั้ง
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การประกาศเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 เป็นต้นไป หลังจากดำเนินนโยบาย Zero-COVID มานานกว่า 3 ปี (นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสในปี 2563) เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไปยังตลาดจีน
ในปี 2566 ประเมินว่าตลาดจีนจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง จีนเป็นตลาดหลักที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย เป็นตลาดส่งออกอันดับที่สอง สัดส่วน 12 % ของการส่งออกรวม รองจากสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ผลไม้ไทยยังเป็นตลาดส่งออกหลัก และเป็นแหล่งส่งออกสินค้าขั้นกลาง อาทิ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์
ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่ง สัดส่วน 23.3 % โดยส่วนใหญ่ไทยนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการค้ากับจีนขยายตัวเพียง 3.1 % ลดลงจากการส่งออก 6.5% เป็นการหดตัวในรอบ 3 ปี แต่ขยายตัวจากการนำเข้า 8.6%
ส่วนสินค้าส่งออกที่หดตัวในตลาดจีนที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นต้น
ในปี 2565 เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ปัจจัยหลักมาจากนโยบาย Zero-COVID คุมเข้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 สวนทางกับประเทศอื่นๆในโลกที่ใช้นโยบายผ่อนคลาย
การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในหลายพื้นที่ของจีน ทำให้ต้องล็อคดาวน์เมืองเศรษฐกิจสำคัญบ่อยครั้ง
ขณะเดียวกันยังคงคุมเข้มการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อไวรัสในสินค้าและคนที่ผ่านเข้าไปยังจีน ส่งผลให้การผลิตและการค้าของจีนชะงักงัน ประกอบกับอุปสงค์ภายนอกอ่อนแอ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันถึง 5 เดือน ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
อีกปัจจัยหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพมากกว่าการเติบโตในเชิงปริมาณ โดยพึ่งพาตนเองมากขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ภายใต้กลยุทธ์ Dual Circulation ทำให้จีนต้องลดการนำเข้าลง แต่ยังเปิดรับการค้ากับต่างประเทศอยู่
ด้านปัจจัยภายนอกจากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี จากกฎหมาย CHIPS and Science Act of 2022 กีดกันจีนไม่ให้เข้าถึงสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง
กดดันต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงทำให้ความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างชาติลดลง และมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
อย่างไรก็ดี จีนยังคงเป็นตลาดหลักที่มีศักยภาพ จากการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นจะช่วยเร่งให้การส่งออกไปประเทศจีนกลับมามีทิศทางที่สดใสอีกครั้ง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในของจีนที่กลับมาดำเนินการใกล้เข้าสู่ระดับปกติ
ด้วยประชากรจีนที่มีจำนวนมากเมื่อการบริโภคและการผลิตฟื้นตัวจะผลักดันการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น จากความต้องการที่อั้นไว้ในช่วงล็อคดาวน์
ด้านผู้ประกอบการ สิ่งที่ต้องมีการเตรียมพร้อมในระยะยาว หากจีนต้องกลับไปล็อคดาวน์อีกครั้งสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ ทุเรียน มันสำปะหลัง ไม้ยางพารา และเคมีภัณฑ์
ดังนั้นจึงควรวางแผนกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดศักยภาพอื่น ๆ มากขึ้น รวมทั้งสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตลอดจนการวางแผนทางการเงินที่รัดกุม เพื่อรับมือความเสี่ยงของตลาดจีนที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่