ปตท.สผ.เตือนรัฐเร่งสรุปแหล่ง“ไพลิน-ยาดานา”หลังใกล้หมดสัญญาสัมปทานอีก 5 ปีหวังให้การผลิตก๊าซฯต่อเนื่องไม่กระทบโรงไฟฟ้าในประเทศ
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงแหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลิน ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2571 ซึ่งเหลือเวลาอีก 5 ปี แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 60% แต่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นโอเปอเรเตอร์ ตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานยังสามารถต่ออายุได้อีก 10 ปี จนถึงปี 2581 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะมีการต่อสัญญาหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้แหล่งไพลินเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตปิโตรเลียมต่อไปได้อีกในอนาคต แต่การต่อสัญญาต้องดำเนินการตามเงื่อนไขในเรื่องของการวางหลักประกันการรื้อถอน ถ้าหาก เชฟรอนฯยอมรับเงื่อนไขได้ ก็สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ต่อเนื่อง แต่หากไม่ยอมรับเงื่อนไข จะส่งผลให้การลงทุนของเชฟรอนหยุดลง และทยอยลดกำลังการผลิตเหมือนกับกรณีของแหล่งเอราวัณ ที่ทำให้เกิดช่วงรอยต่อของการผลิตก๊าซฯ ป้อนโรงไฟฟ้าในประเทศ
ดังนั้นจะต้องมีความชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 โดยปัจจุบันแหล่งไพลินมีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน
“ถ้าแหล่งไพลิน ไม่มีความชัดเจนในการตัดสินใจลงทุนต่อในช่วงไตรมาส 1ปี67 จะเริ่มเห็นการผลิตก๊าซฯทยอยลดลง เพราะในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมต้องมีเวลาวางแผนดำเนินการล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ปี เพื่อเจาะหลุม วางแท่น เชื่อมท่อเพิ่ม ซึ่ง ปตท.สผ.ก็แจ้งไปว่า พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้แหล่งไพลิน สามารถรักษาการผลิตก๊าซฯได้ต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ในปี 2571 แหล่งยาดานาในพื้นที่ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซฯสำคัญจะสิ้นสุดสัมปทานลง แต่ยังมีศักยภาพที่จะสามารถต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปได้อีก โดยมีผู้ลงทุนที่สำคัญคือ เชฟรอน ถือหุ้น 41% หากไม่มีความชัดเจนในการต่อสัมปทานฯ ก็อาจหยุดการลงทุนลงได้ ปัจจุบันแหล่งนี้ มีกำลังการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่กว่า 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ส่งปริมาณก๊าซฯเข้าไทย กว่า 400 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และส่งเข้าเมียนมา กว่า 200 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน
นายมนตรี กล่าวว่า ปี 2571 จะเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงปริมาณก๊าซฯจากแหล่งไพลิน และแหล่งยาดานา ที่จะสิ้นสุดสัมปทานลง ซึ่งควรเร่งแก้ไขปัญหาในบ้านเราก่อน คือแหล่งไพลิน ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ความเสี่ยงในการทำธุรกิจของ ปตท.สผ.แต่เป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน เพราะถ้าต้องไปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)จะเจอกับราคาผันผวน ซึ่งล่าสุด ราคาแอลเอ็นจีตอนนี้อยู่ที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
ด้านนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯได้หารือกับทางเชฟรอนฯในกรณีการต่อสัญญาสัมปทานแหล่งไพลินมาโดยตลอด โดยเชฟรอนฯยินดีปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่รอการอนุมัติจากทางสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯก่อน อย่างไรก็ตามระบบไทยแลนด์ วัน ถือเป็นกฎหมายที่ให้ความยุติธรรมกับนักลงทุน อย่างมากของโลก
ส่วนกรณีความกังวลว่าแหล่งไพลิน อาจซ้ำรอยแหล่งเอราวัณ ที่ ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตได้นั้น ได้ประเมินแผนดำเนินการ ทั้งแผนที่จะทำต่อ และแผนรื้อถอน ซึ่งทางเชฟรอนฯยังรายงานไม่ครบตามที่กรมฯกำหนดไว้ แต่จะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง