ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน วอนเร่งตั้งรัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน วอนเร่งตั้งรัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง
ผู้ประกอบการห่วงตั้งรัฐบาลช้าขาดความต่อเนื่องนโยบายเศรษฐกิจ ฉุดความเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ10 เดือน หวังได้ดรีมทีมเศรษฐกิจมืออาชีพ

นายเกรียงไกร   เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับตัวลดลงจาก 94.1 ในเดือนมิถุนายน และค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ เนื่องจากภาคการผลิตและอุปสงค์สินค้าชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงในประเทศมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่และค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อของครัวเรือนอ่อนแอลง ส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง  ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น

นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและยังมีปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางจากอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง ทำให้การส่งออกส่งสัญญาณชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 โดยเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด  แต่ยังโชคดีที่เศรษฐกิจไทยยังมีภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยพยุงการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศบ้าง

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.2 ปรับตัวลดลง จาก 102.1 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณภาครัฐ ตลอดจนขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้าและค่าจ้างแรงงาน เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐดังนี้  1.เร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วและออกนโยบายฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ

2.เร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาระต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินและลดความเสี่ยงการเป็นหนี้เสีย (NPL)

3.ขอให้ใช้กลไกของทูตพาณิชย์ในการเจรจาเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะไทย-อียู ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนลดปัญหาทั้งอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) และมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(Non-Tariff Measures: NTMs)

4.ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการลงทุนต่างๆ ที่ยังค้างท่อ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

“การตั้งรัฐบาลใหม่หากยังอยู่ในกรอบเวลาก็ยังไม่เป็นปัญหา  แต่ควรต้องจัดตั้งให้เร็ว สิ่งแรกที่ต้องเข้ามาแก้ไขคือเรื่องปากท้องประชาชน เป็นปัญหาเฉพาะหน้า และที่อยากฝากคือปัญหาภัยแล้ง เพราะจะส่งผลต่อภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิตของอุตสาหกรรมด้วย”

นายเกรียงไกร กล่าวว่าอยากเห็นดรีมทีมเศรษฐกิจ ที่มีประสบการณ์ ตั้งแต่รองนายกเศรษฐกิจไปถึงรัฐมนตรี ซึ่งต้องทำงานร่วมกัน เป็นทีมเดียวกันอย่างใกล้ชิด  เพื่อให้ประชาชน นักธุรกิจมีความหวัง  สร้างความเชื่อมั่น    ส่วนที่มีข่าวว่า นายผยง ศรีวณิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยติดโผเป็นรมว.คลัง นั้น ถ้าเป็นจริงก็ยินดีด้วยเพราะคุณผยงก็อยู่ในคณะกรรมการร่วมเอกชน (กกร.) เป็นผู้มีประสบการณ์ โปร่งใส  ในช่วงที่บรรยากาศเปราะบางแบบนี้ถ้าได้คนเก่งก็เป็นเรื่องที่ดี

 

 

TAGS: #ดัชนีความเชื่อมั่น #ส่งออก #รัฐบาลใหม่