นักธุรกิจนักลงทุน ลุ้นให้จบโหวต “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งนายกฯ เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ เรียกความเชื่อมั่นแก้่ปัญหาปากท้่อง
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าวันที่ 22 ส.ค. นี้ รัฐสภาจะมีการประชุมโหวตนายกฯ คนที่ 30 หลังจากยืดเยื้อมาแล้ว 2 เดือน นับจากการเลือกตั้งปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่าน
หากไม่มีอะไรพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ คนที่ 30 และคาดว่าจะได้รับเสียงจาก ส.ส. และ ส.ว. ถึง 375 เสียง ในการสนับสนุนเป็นนายกฯ แบบไร้ปัญหา
การโหวตนายเศรษฐา เป็นนายกฯ จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของเศรษฐกิจ เพราะหากนายเศรษฐา ได้รับการโหวตเป็นนายกฯ เศรษฐกิจก็จะเหมือนได้น้ำทิพย์ชะโลมใจขึ้นมาทันที
แต่หากนายเศรษฐา ตกสวรรค์ไม่ได้เป็นนายกฯ ด้วยเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ เศรษฐกิจก็จะเหมือนตกเหวลึกลงไปด้วย
ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่การเลือกตั้งปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยซึมๆ มาตลอด เพราะรอรัฐบาลใหม่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากที่การโหวตนายกฯ รอบแรก และรอบสอง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เศรษฐกิจก็เสียความเชื่อมั่นไปมาก
แม้แต่ มีความชัดเจนเรื่องพรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีความชัดเจนว่าจะเสนอ นายเศรษฐา เป็นนายกฯ หลายสัปดาด์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยก็ไม่กระเตื้องขึ้น เห็นได้ชัดจากตลาดหุ้นไทย ที่ยังทรงๆ กลับลงๆ อยู่เรื่อยๆ เพราะยังไม่มั่นใจการโหวตนายกฯ คนใหม่จะเป็นใครกันแน่ และการตั้งรัฐบาลใหม่จะเร็จหรือไม่
ดังนั้น หากการโหวตนายกฯ รอบนี้ นายเศรษฐา ไม่ได้เป็นนายกฯ นักวิเคราะห์หุ้นเชื่อว่า ตลาดหุ้นจะตอบสนองในทางลบอย่างรวดเร็วและรุนแรง ประเมินว่า 1,500 จุด เอาไม่อยู่
ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจมหภาค ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค.2566 ก็ลดลงต่ำในรอบ 10 เดือน เป็นการปรับตัวที่ภาคส่วน ทั้งคำสั่งซื้อสินค้า ยอดขาย ปริมาณการผลิต ต้นทุนผู้ประกอบการสูง และผลประกอบการที่ลดลง จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนสูง ค่าครองชีพแพง ทำให้กำลังซื้ออ่อนแอ ยิ่งการเมืองตั้งรัฐบาลล่าช้า ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิิจให้อ่อนแอรุนแรงมากขึ้น
ดังนั้น ส.อ.ท. จึงเตรียมทำข้อเสนอถึงว่าที่รัฐบาลใหม่ทันที ทั้งการเร่งตั้งรัฐบาลออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการด่วน แก้ปัญหาปากท้องประชาชน และเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ออกมาตรการบรรเทาต้นทุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เร่งทำงบประมาณปี 2567 เพื่ออัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หลังจากที่คาดว่าล่าช้าไปกว่า 6 เดือน
สอดคล้องกับผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พบว่า ความเชื่อมั่นด้านการค้าปลีกลดลง และความเชื่อมั่นของธุรกิจโรงแรมก็ไม่ดี เพราะมีต้นทุนการเงินจากดอกเบี้ยปรับขึ้น และหมดมาตรการรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การบริโภคสินค้าและการท่องเที่ยวแผ่วลง
ด้านนักวิชาการด้านเศรษฐกิจมองว่า การตั้งรัฐบาลช้ามากไปเท่าไรย่อมส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น โดยหากยังไม่ได้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาเศรษฐกิิจของประเทศภายในเดือน ก.ย.นี้ เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างแน่นอน ทั้งความเชื่อมั่น และการไร้มาตรการต่างๆ ที่จะมาผลักดันเศรษฐกิจให้่ดีขึ้น
ดังนั้นการโหวตนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค. นี้ นักลงทุนนักธุรกิจ รวมถึงประชาชนหาเช้ากินค่ำ จึงอยากให้การโหวตนายกฯ จบที่ “เศรษฐา” เพื่อจะเป็นจุดเริ่มต้นมีรัฐบาลใหม่เสียที หากยังโหวตนายกไม่ได้เชื่อว่าเศรษฐกิจภาพรวม ตลาดหุ้น ความเชื่อมั่น จะดิ่งลงแรงจนไม่รู้หาทางฉุดกลับขึ้นมาให้มีความหวังออยากขึ้นเป็นทวีคูณสำหรับนายกฯ และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำงานต่อไป