GPSC รับสภาพ ก๊าซ-ถ่านหินแพง กดมาร์จิ้นขายไฟลด ปี’65 กำไรวูบ 88%

GPSC รับสภาพ ก๊าซ-ถ่านหินแพง กดมาร์จิ้นขายไฟลด ปี’65 กำไรวูบ 88%
GPSC เผชิญปัจจัยลบ ราคาเชื้อเพลิงพุ่ง-ลูกค้าอุตสาหกรรมหยุดซ่อม กดกำไรเหลือ 891 ล้านบาท แม้ได้อานิสงส์ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าปี’

วรวัฒน์    พิทยศิริ    ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่    บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. กล่าวถึง ผลการดำเนินงานปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 123,685 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 65% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีกำไรสุทธิ รวมทั้งสิ้น 891 ล้านบาท ลดลง 6,428 ล้านบาท หรือ 88% จากปี 2564

ทั้งนี้มีปัจจัยหลักมาจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ลดลง 8,770  ล้านบาท เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง

ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันราคาต้นทุนเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับปัจจัยบวกจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) เพิ่มขึ้น 1,200 ล้านบาทจากการเดินเครื่องผลิตของโรงไฟฟ้าศรีราชา และโกลว์ไอพีพี ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลแทนก๊าซธรรมชาติ ทำให้มี margin จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ส่วนโรงไฟฟ้าศรีราชามีปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับแผนการเรียกรับไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยยังได้รับส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เพิ่มขึ้น 330 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่าปี 2564

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2565 มีรายได้รวม 34,839 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่มีผลขาดทุนสุทธิรวมทั้งสิ้น 436 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 137% เมื่อเทียบกับกำไรในไตรมาส 4/2564 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 (QoQ) ปรับตัวลดลง 232%

ทั้งนี้มีปัจจัยหลักมาจากราคาก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินอยู่ในระดับสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มาร์จินจากการขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมลดลง แม้ว่าในช่วงเดือนกันยายนจะมีการปรับค่าเอฟที เพิ่มขึ้นเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้สามารถชดเชยต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นได้บางส่วน

นอกจากนี้ปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องจากลูกค้าอุตสาหกรรมหยุดซ่อมบำรุง อีกทั้งมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีปรับตัวลดลงตามฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม ในส่วนผลการดำเนินงาน IPP มีรายได้ และกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก กฟผ. มีการเรียกไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มขึ้น ขณะที่มีการใช้น้ำมันดีเซลเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติ ทำให้มาร์จินจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และมีการรับรู้รายได้จากค่าเคลมประกันภัยของโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงานระยะที่ 5 บางส่วน

ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทฯ มีการรับรู้มูลค่า Synergy ร่วมกับ GLOW สุทธิหลังภาษีจำนวน 2,740 ล้านบาท จากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการผลิต โดยการใช้โครงข่ายไฟฟ้าร่วมกัน การบริหารส่วนการพาณิชย์ด้านต้นทุนการผลิต การขยายฐานลูกค้า และการบริหารจัดการหุ้นกู้ ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนหลังจากการควบรวมมาอย่างต่อเนื่อง

วรวัฒน์ กล่าวว่า แม้ปี 2565 จะเป็นปีที่บริษัทฯ เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามา แต่บริษัทฯ ยังคงดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าชั้นนําด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล

ดังนั้นทำให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices -DJSI) ในกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Index) ประเภทอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นปีแรก ที่คะแนนมิติด้านสังคมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มสาธารณูปโภคโรงไฟฟ้าทั่วโลก ซึ่งบริษัทฯตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ในปี 2573 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นที่จะแสวงหาโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรในการศึกษาและลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน  การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต  การให้บริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

 

TAGS: #GPSC #ราคาเชื้อเพลิง #SPP #IPP #ค่าเอฟที #ก๊าซธรรมชาติ