เศรษฐกิจฟื้นท่องเที่ยวโต ดันยอดใช้น้ำมันครึ่งปีหลังโต 2%

เศรษฐกิจฟื้นท่องเที่ยวโต ดันยอดใช้น้ำมันครึ่งปีหลังโต 2%
กรมธุรกิจฯชี้ภาพรวมการใช้น้ำมันขยายตัวเว้นดีเซลสวนทางลดลงเหตุส่งออกชะลอตัวลดเที่ยวขนส่งสินค้า ขณะที่ปั๊มLPG คืนชีพ ครึ่งปีแรกขยับขึ้นเล็กน้อย

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยถึง สถานการณ์การใช้น้ำมันในช่วงครี่งหลังของปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2%  โดยมีปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ส่งผลให้ครึ่งปีหลังการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 1.2% น้ำมันอากาศยาน(JET A1) เพิ่มขึ้น 30.6% ส่วนดีเซลจะปรับตัวลดลง 1.9% เนื่องจากการส่งออกไทยที่ชะลอตัวส่งผลให้การขนส่งสินค้าลดลงไปด้วย ด้านการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) เพิ่มขึ้น 5.7%

สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีแรก ของปี 2566 (เดือนม.ค.- มิ.ย.) เฉลี่ยอยู่ที่ 156.74 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.7%  และคาดภาพรวมทั้งปีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ  โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.96 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9 การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 72.30 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7 เนื่องด้วยปัจจัยด้านราคา

ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาท/ลิตร สิ้นสุดลงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 จะอาศัยกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป

ส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.45 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 80.9 % จากการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เฉลี่ยอยู่ที่ 17.69 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน1.4 % โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้ลดลงในภาคอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี 4.2 %  แต่ภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 7.6%

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่ราคาน้ำมันระดับสูง การใช้ LPG ภาคขนส่งขยายตัว โดยจำนวนสถานีบริการ LPG เเดือนมิ.ย. 2566 ปรับเพิ่มขึ้น 27 แห่ง มาอยู่ที่ 1,628 แห่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

น.ส.นันธิกา กล่าวถึง นโยบายการกำหนดสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซล(B100)ในดีเซลปัจจุบันที่ให้ผสมในสัดส่วน 7% เป็นดีเซลB7 เกรดเดียวเพื่อบรรเทาผลกระทบต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคา B100 จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.คงจะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรโดยคาดหวังว่าจะทันเวลาแต่หากไม่ทันอาจจะตัองหารือกับผู้ค้าน้ำมันเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป

 " นโยบายเกรดเดียวหากสิ้นสุดแล้วกลับไปก็จะต้องเป็นดีเซล B7  B10 และ B20  ที่จะต้องมองในเรื่องของราคาที่จะต้องอุดหนุนดูแลเพิ่มขึ้น รวมไปถึงตามนโยบายเองปี 2567 ก็จะต้องเป็นดีเซลเกรดเดียวคือ B7 ตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง(Oil Plan)ฉบับใหม่ที่รอการประชาพิจารณ์และเห็นชอบจากรัฐบาลใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งเราก็หวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะทัน"น.ส.นันธิกากล่าว

 

 

 

TAGS: #ดีเซล #ท่องเที่ยวฟื้น #เศรษฐกิจชะลอ #LPG