ส่งออก-ท่องเที่ยวไทย เผชิญปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจจีนชะลอตัว

ส่งออก-ท่องเที่ยวไทย เผชิญปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจจีนชะลอตัว
สนค. ประเมินอสังหาฯจีนก่อหนี้ทุบเศรษฐกิจภาพรวม ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทย ทั้งท่องเที่ยว ส่งออก  รวมถึงทำให้ราคาสินค้าก่อสร้างบางรายการผันผวน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจจีนที่ถือว่ามีอิทธิพลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังรัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อยู่ไม่น้อย เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนส่วนใหญ่ทำธุรกิจโดยใช้วิธีกู้ยืมเงินเป็นหลัก และสร้างปริมาณโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่

ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคม 2563 ธนาคารกลางจีนจึงประกาศกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า “Three Red Lines” มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และลดการขยายตัวของหนี้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเข้มงวด ซึ่งในเวลานั้นมีเพียง 6.3% ของจำนวนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ครบทุกข้อ จึงทำให้ธุรกิจเกือบทั้งหมดไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนภายในกิจการได้ ประกอบกับยอดขายที่ลดลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้หลายธุรกิจขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ บริษัท Evergrande

ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์จีน มีโครงการมากกว่า 1,300 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน และเป็นธุรกิจที่มีหนี้มากที่สุดในโลก เพิ่งได้ยื่นขอล้มละลายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และล่าสุดยังมีข่าวบริษัท Country Garden ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของจีน มีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

 ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือว่ามีขนาดใหญ่จนสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเป็นวงกว้าง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29% ของ GDP จีน ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2566 นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Barclays ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 เหลือเติบโตเพียง 4.5% เท่านั้น หลังจากประเมินแล้วว่าการใช้นโยบายการคลังและการเงินของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจีนไม่ค่อยเห็นผลนัก ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/66 ยังขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.8 จากไตรมาสที่ 1/66

ขณะเดียวกัน ยังส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของประชาชน เพราะกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรที่อยู่ในเขตเมือง นิยมสร้างความมั่งคั่งด้วยการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้เพื่อการลงทุนและเก็งกำไร และเมื่อราคาที่อยู่อาศัยลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ลงทุนจึงเกิดการขาดทุนกันถ้วนหน้า

นอกจากนี้ยังสร้างผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ภาคการก่อสร้างเป็นแหล่งจ้างงานกว่า 62 ล้านตำแหน่ง แรงงานอาจมีแนวโน้มถูกเลิกจ้างงาน ขณะเดียวกันการจ้างงานใหม่หดตัว โดยเฉพาะการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ที่มีสถิติหดตัวสูงเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลงทุนใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ปี 2565 และปัจจุบันยังคงลดลงต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลง 8.5% ตามความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ลดลง

ขณะเดียวกันยังสร้างผลกระทบต่อภาคค้าปลีก จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่รายงานภาวะเศรษฐกิจค้าปลีก พบว่า ภาคค้าปลีกของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์อย่างยอดค้าปลีกในหมวดของตกแต่งบ้าน เฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมของปีนี้ ลดลง 7.3%

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สนค. ได้วิเคราะห์ต่อ 2 ภาคเศรษฐกิจสำคัญ คือ 1. ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนที่ลดลง และส่งผลข้างเคียงมายังเศรษฐกิจ

ภาคการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทย โดยในช่วงเวลาปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 11.1 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวน5.3 แสนล้านบาท

สำหรับในปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในประเทศไทยสะสมช่วงครึ่งปีแรกเพียง 1.4 ล้านคนเท่านั้น และ 2. ผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งมีผลกระทบที่ส่งผ่าน 3 ช่องทาง คือ  1.ผลกระทบจากกำลังซื้อของชาวจีนที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนต่อ GDP ของจีนค่อนข้างมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคที่ลดลง โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าที่มิใช่สินค้าจำเป็น

2. ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีเพียงบางรายการ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ (เช่น เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง) และเม็ดพลาสติก ซึ่งมีจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วน 18% และ 29% ตามลำดับ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออก Top 10 ของไทย ซึ่งครึ่งปีแรกของปี 2566 สองสินค้าข้างต้นที่ส่งออกไปจีน หดตัว 20.9% และ 26.9% ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคการก่อสร้าง เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องจักรกลที่ใช้ในการก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก คาดว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย-น้อยมาก เนื่องจากจีนไม่ใช่ตลาดส่งออกหลัก

และ 3. ผลกระทบโดยอ้อมจากอิทธิพลด้านราคา อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ด้วเหตุผลที่จีนเป็นผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก จึงมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินค้า และไทยในฐานะเป็น Price taker การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องจึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง โดยเฉพาะราคาเหล็กที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมากกว่าสินค้าอื่น ๆ ตามผลของ JP Morgan พบความสัมพันธ์ระหว่างการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่กับ การนำเข้าเหล็กของจีนที่มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมากและเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน

นายพูนพงษ์ กล่าวว่าแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยคอยติดตามสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนเป็นระยะ ๆ เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ สำหรับภาคการค้า จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจจีนย่อมมีผลกระทบสำคัญต่อการส่งออกสินค้าไทยอยู่ไม่น้อย

 

 

 

TAGS: #สนค. #อสังหาฯจีน #ท่องเที่ยว #ส่งออก