ยอดขายรถในประเทศวูบ ลิสซิ่งเข้มงวดห่วงหนี้ครัวเรือนยึดคืนเดือนละ2-3 หมื่นคัน

ยอดขายรถในประเทศวูบ ลิสซิ่งเข้มงวดห่วงหนี้ครัวเรือนยึดคืนเดือนละ2-3 หมื่นคัน
ส.อ.ท.ชี้การผลิตรถขายในประเทศโตแค่ 0.66% หลังลิสซิ่งคุมเข้ม ผวาเศรษฐกิจชะลอผ่อนไม่ไหว  ขณะที่ตลาดส่งออกรถยนต์โตสวนพุ่ง 30 % ประเทศคู่ค้ายังมีออเดอร์ต่อเนื่อง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง การผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีทั้งสิ้น 149,709 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2565 ร้อยละ 4.72 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2566 ร้อยละ 2.85 จากการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.48 แต่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศแค่ 63,147 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2565 ร้อยละ 1.16 เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่นำเข้ามาจำหน่ายมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,071,221 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.66

สำหรับการผลิตเพื่อส่งออกเดือนกรกฎาคม 2566 ผลิตได้ 86,552 คัน เท่ากับร้อยละ 57.81 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.48  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ช่วง 7 เดือนมีจำนวนผลิตเพื่อส่งออกได้ 617,207 คัน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากคู่ค้าในประเทศต่างๆ ยังดีอยู่จากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลาเดียวกันของปี 2565 จึงส่งออกเพิ่มขึ้นทุกตลาด

ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2566 ผลิตได้ 63,157 คัน เท่ากับร้อยละ 42.19 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.16  โดยในช่วง 7 เดือน ผลิตได้ 454,014 คัน ลดลง ร้อยละ 11.28จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกรกฎาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 58,419 คัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 9.30  โดยช่วง 7 เดือน มียอดขาย 464,550 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.45% เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อ(ลิสซิ่ง)รถกระบะบรรทุกจากหนี้ครัวเรือนของประเทศที่สูงและอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นเป็นเหตุให้มีค่าใช้จ่ายทำให้อำนาจซื้อลดลงส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง

รวมทั้งการส่งออกของสินค้าหลายอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันหลายเดือน ทำให้ลดการทำงานล่วงเวลาลง รายได้ของคนทำงานลดลง เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว โดยขณะนี้มีจำนวนหนี้เอ็นพีแอลรถยนต์เพิ่มขึ้น  มีสถิติรถยนต์ถูกลิสซิ่งยึดเดือนละ 2 หมื่นคัน  และมีโอกาสที่จะเพิ่มมากสุดเดือนละ3 หมื่นคัน 

ส่วนรถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ขายเพิ่มขึ้น 17.28 และ 2.08 ตามลำดับ เนื่องจากการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350.56 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยแบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง ดังต่อไปนี้  รถยนต์สันดาปภายใน (ICE) 47,546 คัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 14.34 รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 4,438 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 350.56  รถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 133 คัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 32.14  รถยนต์ไฟฟ้าผสม (HEV) 6,302 คัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 14.19

นายสุรพงษ์  กล่าวถึงการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป  เดือนกรกฎาคม 2566 มีจำนวน 108,052 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 21.64 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.05 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะประเทศคู่ค้ายังนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโต จึงส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาดยกเว้นตลาดอเมริกาเหนือที่ลดลง มูลค่าการส่งออก 67,587.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2565 ร้อยละ 30.01

ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 7 เดือน  มีจำนน 636,868 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 19.55

อย่างไรก็ตามยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนกรกฎาคม 2566 มียอดจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 6,904 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 373.20 โดยเป็นจำนวนรถยนต์นั่งมากที่สุด 5,057 คัน  โดยช่วง 7 เดือนมียอดจดทะเบียน BEV สะสมจำนวน 49,949 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 469.61

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV เดือนกรกฎาคม 2566 มียอดจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 5,950 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.86  โดยช่วง 7 เดือนรถHEV จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน  52,090 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 39.78 ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV เดือนกรกฎาคม 2566 จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 977 คัน และช่วง 7 เดือนมียอดสะสมอยู่ 7,249 คัน

 

TAGS: #ส่งออกรถยนต์ #ยอดขายรถ #EV #การผลิตรถยนต์