อธิการบดีม.หอการค้าฯ มองนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ผลักดันเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ขยายตัวได้ 5-7% แนะรัฐบาลใหม่โรดโชว์ต่างประเทศ ดึงเม็ดเงินลงทุน โปรโมทเที่ยวไทย
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยถึงนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย ว่า เชื่อว่าพรรคเพื่อไทย ทำแน่นอน แม้จะต้องใช้งบประมาณสูงถึงกว่า 5 แสนล้านบาท และมองว่า สามารถทำได้ เพียงแต่อาจจะต้องชะลอโครงการอื่นๆ ออกไป โดยใช้โครงสร้างในสมัยรัฐบาลเดิม ซึ่งมีวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3 ล้านล้านบาท และทำงบประมาณขาดดุลไว้ 7 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลใหม่จะต้องพูดคุยกับสำนักงบประมาณให้ขยับการใช้งบประมาณปี 67 บางส่วนออกไป
ถามว่า จะทำให้ไทยเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหรือไม่ รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ ไม่น่าจะเป็น เพราะมีกรอบของการจัดทำงบประมาณซึ่งมีวินัยทางการคลัง คือ ไม่ขาดดุลงบประมาณเกินกว่า 4% ของจีดีพี ดังนั้น การที่รัฐบาลประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้เท่าไหร่ และใช้งบประมาณขาดดุลได้สูงสุดเท่าไหร่ ซึ่งเป็นที่มาของการขาดดุลโดยประมาณที่ 7 แสนล้านบาท และมีข่าวจากสำนักงบประมาณว่า อาจจะขาดดุลเพิ่มได้อีกเล็กน้อย ดังนั้น การขาดดุลงบประมาณจึงไม่สูงจนเกินไป
และที่สำคัญ ตอนนี้ รัฐบาลไทยพยายามที่จะรักษาระดับหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี แม้ว่าตอนนี้อยู่ที่ราว 61% แต่ยังมีพื้นที่ในการขยายเพดานหนี้สาธารณะได้เป็น 70% ต่อจีดีพี จึงเชื่อว่า รัฐบาลไม่น่าจะกู้เพิ่มเติม
รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ หากมีการใช้นโยบายนี้ สิ่งที่จะได้กลับมาคือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% หรือประมาณ 3.0-3.5 หมื่นล้านบาทเข้าคลัง และปีถัดไปจะได้ภาษีนิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะร้านค้าต่างๆ จะมีรายได้มากขึ้น ประชาชนก็อาจถูกจ้างงานมากขึ้นจากนโยบายนี้ จะทำให้รัฐบาลมีรายได้ชดเชยในส่วนนี้
โดยทุก 1 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.5-0.7% ถ้าใช้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็จะช่วยกระตุ้นได้ 2-3% เป็นอย่างน้อย ส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีโอกาสขยายตัวได้ประมาณ 5-7% จากเดิมที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3-4% โดยปัจจุบัน หลายฝ่ายมองว่าการใช้งบประมาณอาจจะเกิดขึ้นในเดือนม.ค. หรือเดือนเม.ย.67 ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกระตุ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีในไตรมาส 1-2 สำหรับเงินดิจิทัลกว่า 5 แสนล้านบาท เมื่อเข้าสู่ระบบบ คาดว่าเดือนแรกๆ จะทำให้เงินสะพัดราว 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อได้รัฐบาลใหม่ในปลายเดือน ก.ย. หรือต้น ต.ค.2566 เงินจะเริ่มมีการใช้จ่ายมากขึ้น จากงบประมาณของภาครัฐ และเมื่อรัฐบาลใหม่ประกาศนโยบาย เอกชนไทยและต่างประเทศจะเริ่มเข้ามาลงทุน ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2566 จะได้รับแรงกระตุ้นจากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น สถานการณ์ทางการการเมืองนิ่ง และการลงทุน รัฐบาลควรจะโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยว โปรโมทการลงทุน ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยคึกคักมากขึ้น ขณะที่ประชาชน จะกล้าใช้จ่าย การบริโภคก็น่าจะดีขึ้น
นอกจากนี้ การใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน และการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งใช้งบฯ ของปี 2567 โดยใช้โครงสร้างของปี 2566 ไปพลางก่อน ก็น่าจะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ